เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ คุณแม่อาจพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างกับร่างกายของคุณแม่ รวมถึงอาการเท้าบวมด้วย ซึ่งวันนี้เราจะมาทำความเข้าใจกันว่าอาการบวมน้ำนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร และจะมีวิธีบรรเทาอาการได้อย่างไรบ้าง เราไปดูกันเลยค่ะ
อาการเท้าบวมระหว่างตั้งครรภ์
👣อาการบวมน้ำคืออะไร?
อาการบวมน้ำ (Edema) เป็นภาวะที่มีน้ำหรือน้ำเหลืองสะสมในปริมาณมากอยู่ภายในเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของร่างกาย ทำให้เกิดอาการบวม ซึ่งอาการบวมน้ำสามารถเกิดได้กับทุกส่วนของร่างกาย จะสังเกตได้อย่างชัดเจนเมื่อเกิดอาการบวมบริเวณ มือ แขน ข้อเท้า หรือขา ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากหลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น อาการเจ็บป่วย อาหารที่กิน หรือการรับประทานยาบางชนิด เป็นต้น 🙁
👣ช่วงเวลาไหนที่เท้าจะเริ่มบวมกันนะ?
คุณแม่มีแนวโน้มที่จะสังเกตเห็นเท้าบวมในสัปดาห์ที่ 22 ถึงสัปดาห์ที่ 27 ของการตั้งครรภ์ และอาจมีอาการแย่ลงเรื่อยๆจนคลอด เนื่องจากลูกน้อยในครรภ์👶 กำลังโตขึ้น พร้อมกับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นนั่นเองค่ะ
👣เท้าบวมเกิดจากอะไร?
อาการเท้าบวมนั้นเกิดจากของเหลวที่รั่วไหลออกมาจากเส้นเลือดขนาดเล็กในร่างกายทำให้เนื้อเยื่อบริเวณรอบๆนั้นบวม หรืออาจเป็นผลมาจากอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ของร่างกายก็ได้ค่ะ
วิธีบรรเทาอาการเท้าบวมขณะตั้งครรภ์
👣หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งเป็นเวลานาน
หากคุณแม่ยืนเป็นเวลานาน เท้าของคุณแม่ก็มีแนวโน้มที่จะบวมได้ง่าย ดังนั้นแนะนำว่าคุณแม่ไม่ควรที่จะยืน🤰เป็นเวลานานเกินไป และควรหาจังหวะในการนั่งพัก แต่คุณแม่ท่านใดที่จำเป็นต้องทำงานที่จะต้องนั่งเยอะๆ ก็ควรหาเวลายืนขึ้นและเดินไปรอบๆ เป็นเวลา 5 นาที ทุกๆ 1 ชั่วโมงนะคะ
👣ยกเท้าขึ้น
ถ้าเป็นไปได้ ให้คุณแม่ยกเท้าขึ้น👣 ขณะนั่ง เพื่อไม่ให้เลือดไปจดจ่อที่เท้าและข้อเท้ามากเกินไป หรืออาจลองเตะเท้าขึ้นไปในอากาศสักครู่แล้ววางลงก็ได้ค่ะ
👣นอนตะแคง
การนอนตะแคงจะช่วยลดแรงกดบนหลอดเลือดดำขนาดใหญ่ที่ส่งเลือดจากส่วนล่างของร่างกายไปยังหัวใจของคุณแม่ โดยคุณแม่สามารถวางหมอนไว้ใต้ขาของคุณเพื่อยกขาระหว่างนอนได้ค่ะ🛏️
👣เคลื่อนไหวร่างกาย
หากมีเวลาควรพาตัวเองไปเดินเล่นรอบๆบ้าน หรือจะไปว่ายน้ำก็ได้นะคะ🏊♀️ การเคลื่อนไหวร่างกายก็สามารถช่วยลดอาการบวมน้ำได้เช่นกันค่ะ
👣ใส่เสื้อผ้าสบายๆ
การใส่เสื้อผ้าที่หลวม👚 จะทำให้เส้นเลือดของคุณแม่ไม่ถูกกดและช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ง่ายขึ้น รวมถึงพยายามหลีกเลี่ยงการสวมถุงเท้าหรือถุงน่องรัดๆ ที่ข้อเท้าหรือน่องนะคะ🙅♀️