post-title

อยากได้ลูกแฝด? มีปัจจัยอะไรบ้างน้า?

             คุณผู้ชายและคุณผู้หญิงหลายท่านอาจมีความคิดอยากมีลูกแฝด เนื่องจากตั้งครรภ์ครั้งเดียวแต่ได้เจ้าตัวน้อยออกมาอยู่ด้วยกันถึงสองคนขึ้นไป หลายๆท่านอาจกำลังหาวิธีการในการตั้งครรภ์ลูกแฝด แต่ก่อนอื่นนั้นคุณพ่อคุณแม่มั่นใจว่าตนเองรู้จักการตั้งครรภ์แฝดดี ข้อดีข้อเสีย และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นดีพอหรือไม่ บทความนี้จะพาไปดูกันค่ะ


ชนิดของการตั้งครรภ์แฝด

แฝดแท้ 

เป็นแฝดคู่พี่น้องที่มีลักษณะภายนอกเหมือนกันเกือบทั้งหมด👶👶 พบได้ประมาณ 30% ของการตั้งครรภ์แฝดเป็นชนิดของครรภ์แฝดที่มีความเสี่ยงมากกว่าแฝดเทียม ไม่ว่าจะเป็นภาวะสายสะดือพันกัน หรือร่างกายบางส่วนติดกัน

แฝดเทียม

เป็นคู่แฝดที่จะมีลักษณะเหมือนกันหรือไม่เหมือนกันก็ได้ พบได้ประมาณ 70% ของการตั้งครรภ์แฝด🤰 แน่นอนว่าความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนก็จะน้อยกว่าแฝดแท้ แต่ก็ไม่ใช่ไม่เสี่ยงเลย โดยความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนหลักๆจะมีอะไรบ้าง ไปดูกันค่ะ


ความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ 

คุณแม่อาจมีอาการแพ้ท้องในระดับที่มากกว่าปกติจนอาจต้องนอนโรงพยาบาลและเนื่องจากขนาดท้องที่โตมากกว่าปกติ จะทำให้คุณแม่อึดอัดและหายใจไม่ออก และอาจมีอาการปวดหลังร่วมด้วยอาจเกิดภาวะเลือดจาง ครรภ์เป็นพิษและความดันโลหิตสูง🩸มากกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยว มีภาวะรกต่ำหรือรกลอกตัวก่อนกำหนด ทารกแต่ละคนถ่ายเทเลือดให้กันจนมีอีกคนได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ หนักที่สุดคือมีความเสี่ยงในการแท้งมากกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยวอย่างแน่นอนค่ะ

ภาวะแทรกซ้อนตอนคลอด 

อาจเกิดการคลอดก่อนกำหนดในระยะเวลาที่มากกว่าปกติ ส่งผลให้ลูกน้อยที่คลอดออกมานั้นมีสุขภาพที่ไม่สมบูรณ์แข็งแรง อวัยวะยังพัฒนาไม่มากพอที่จะใช้งาน แพทย์👩‍⚕️ผู้ทำคลอดอาจต้องใช้เครื่องมือช่วยคลอด อีกทั้งคุณแม่ก็มีแนวโน้มที่จะต้องใช้วิธีผ่าคลอดสูง

ภาวะแทรกซ้อนหลังคลอด 

ไม่ว่าจะเป็นการตกเลือด ติดเชื้อ ทารกน้ำหนักน้อยกว่าปกติ สุขภาพของลูกน้อยไม่ดี ป่วยง่าย และมีโอกาสเสียชีวิตกว่าทารกครรภ์เดี่ยวค่อนข้างสูง


ปัจจัยและวิธีในการตั้งครรภ์แฝด

ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ 

อันดับแรกเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ หากคนในครอบครัวมีประวัติการตั้งครรภ์แฝด คุณแม่ก็จะมีโอกาสมากขึ้น และหากเป็นคุณแม่ชาวแอฟริกันก็จะมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดมากกว่าคุณแม่ผิวขาวหรือผิวเหลือง หากเป็นคุณแม่ที่เคยคลอดบุตรมาแล้วหลายครั้งก็จะมีโอกาสมากขึ้น และหากเป็นคุณแม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป มีน้ำหนักและส่วนสูงที่มาก ก็จะมีโอกาสตั้งครรภ์แฝด🤰 มากขึ้นค่ะ

ปัจจัยที่ควบคุมได้ 

การรับประทานอาหารแคลเซียมสูงและโปรตีนสูงสามารถช่วยเพิ่มโอกาสได้มากขึ้น อีกทั้งยังมีความเชื่อว่าหากรับประทานอาหารที่มีกรดโฟลิคสูงก็จะเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์แฝดเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามความเชื่อเรื่องการรับประทานกรดโฟลิค💊สูงยังไม่เป็นที่ยอมรับในทางวิทยาศาสตร์มากนัก นอกจากนี้ คุณผู้หญิงที่รับประทานยาคุมมากกว่า 3 ปีขึ้นไป และคุณแม่ที่เคยให้นมลูกอย่างต่อเนื่องมาก่อนในท้องก่อนหน้าก็จะมีโอกาสในการตั้งครรภ์แฝดมากขึ้น สุดท้ายคือการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาช่วย เช่น การทำเด็กหลอดแก้วค่ะ


ข้อดีและข้อเสียของการตั้งครรภ์แฝด

แน่นอนว่าการตั้งครรภ์แฝดนั้นจะทำให้คุณแม่เจ็บตัวจากการคลอดเพียงครั้งเดียว แต่ได้เจ้าตัวน้อยออกมาอยู่เป็นเพื่อนพี่น้องกันถึงสองคนขึ้นไป แต่ข้อเสียก็มีให้พิจารณาเช่นเดียวกัน คุณแม่ต้องเผชิญความลำบากระหว่างการตั้งครรภ์🤰ที่มากกว่าปกติมาก ทั้งในเรื่องของสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต และอาจมีปัญหาในเรื่องของการเลี้ยงดู 

ไม่ว่าจะเป็นการเอาใจใส่ แบ่งเวลาให้เจ้าตัวน้อยทั้งสองคนไม่เท่ากัน👶👶 และปัญหาค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับมากกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยว ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาลเพราะการตั้งครรภ์แฝดมีโอกาสสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนและค่าใช้จ่ายหลังคลอดบุตรที่อาจสูงขึ้นกว่าการมีลูกคนเดียวถึงสองเท่าขึ้นไป

       อย่างไรก็ตาม การตั้งครรภ์แฝดยังถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่ปกติในทางการแพทย์ เนื่องจากทำให้ตัวคุณแม่เองต้องแบกรับความเสี่ยงทางด้านสุขภาพสูงมากทั้งระหว่างการตั้งครรภ์และหลังการคลอด หากครอบครัวต้องการที่จะมีลูกแฝดจริงๆ ควรปรึกษากับแพทย์👨‍⚕️ผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินว่าตนเองพร้อมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นนอกเหนือจากที่ระบุในบทความ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีต่อทั้งตัวของคุณแม่เองและลูกน้อยในอนาคตค่ะ