ภาวะมีบุตรยากคงเป็นหนึ่งในหัวข้อแรกๆที่คุณผู้หญิงและคุณผู้ชายที่กำลังวางแผนจะมีเจ้าตัวน้อยกังวลกันแต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองเข้าข่ายหรือมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดังกล่าวหรือไม่ แล้วถ้ามีความเสี่ยงควรปฏิบัติตัวอย่างไร บทความนี้มีคำตอบให้ค่ะ แต่ก่อนอื่น เราไปทำความรู้จักเบื้องต้นกับภาวะมีบุตรยากกันก่อนค่ะ
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก
ภาวะมีบุตรยากคืออะไร?
ภาวะมีบุตรยาก หมายถึง ภาวะที่คู่สามีภรรยาพยายามที่จะมีบุตรในระยะเวลา 1 ปีอย่างสม่ำเสมอโดยไม่คุมกำเนิด แต่ก็ยังไม่สามารถมีบุตรได้ และอาจลดระยะเวลาเหลือเพียง 6 เดือนในคู่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ภาวะมีบุตรยากอาจเกิดจากความผิดปกติของร่างกายคุณผ้หญิงหรือคุณผู้ชายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรืออาจเกิดจากความผิดปกติร่วมกันก็ได้ค่ะ👩❤️👨 โดยปกติแล้วภาวะมีบุตรยากจะเกิดขึ้นกับคู่สมรสได้มากถึงประมาณ 14% แต่คุณผู้อ่านจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดังกล่าวหรือไม่ เราไปดูปัจจัยเสี่ยงกันเลยค่ะ
สำหรับคุณผู้หญิง
อาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติของฮอร์โมนในร่างกาย หรือความผิดปกติขององค์ประกอบต่างๆของมดลูก ไม่ว่าจะเป็นท่อนำไข่ เยื่อบุโพรงมดลูก ปากมดลูก ความผิดปกติของลักษณะอุ้งเชิงกราน รวมไปถึงภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัย🩸 และปัจจัยทั่วไปที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพกาย เช่น ความเครียด วิตกกังวล การพักผ่อน การออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม โรคติดต่อทางเพศ รวมไปถึงการใช้สารเสพติดค่ะ
สำหรับคุณผู้ชาย
สามารถเกิดได้จากความผิดปกติของฮอร์โมนในร่างกายเช่นเดียวกัน และอาจเกิดจากความผิดปกติของตัวอสุจิ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณในการหลั่งน้ำอสุจิที่น้อยเกินไป หรือตัวอสุจิที่ไม่สมบูรณ์แข็งแรง รวมไปถึงการเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธ์ุและการเจริญพันธ์ุ♂️ สุดท้ายจะเป็นเรื่องของปัจจัยทั่วไปที่ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมเช่นเดียวกับคุณผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นความความเครียด การพักผ่อน การกินอาหาร และการออกกำลังกายที่ไม่เหมาะสมรวมไปถึงพฤติกรรมการใช้สารเสพติดค่ะ🍷
หากมีความเสี่ยงจะตรวจได้อย่างไร
สำหรับคุณผู้หญิง♀️
สามารถตรวจหาความเสี่ยงได้ด้วยการตรวจวัดฮอร์โมนในร่างกาย การตรวจโรคทางพันธุกรรม การอัลตราซาวนด์มดลูกและรังไข่ การใช้กล้องส่องโพรงมดลูก และการเอกซเรย์ท่อนำไข่และมดลูกค่ะ
สำหรับคุณผู้ชาย♂️
สามารถตรวจหาความเสี่ยงได้โดยการตรวจวิเคราะห์ปริมาณและคุณภาพความสมบูรณ์ของน้ำเชื้อหรือน้ำอสุจิ ตรวจวัดระดับฮอร์โมนเพศชาย การอัลตราซาวนด์ลูกอัณฑะและหลอดเลือดบริเวณองคชาติรวมไปถึงการส่องกล้องตรวจภายในช่องท้องและถุงอัณฑะด้วยค่ะ
แนวทางการรักษาภาวะมีบุตรยากและทางเลือกอื่นในการมีบุตร
โดยปกติแล้ว แนวทางการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก แพทย์จะเน้นการรักษาที่ส่งเสริมให้คุณผู้หญิงสามารถตั้งครรภ์ตามธรรมชาติให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการให้ยาปรับระดับฮอร์โมน การให้ยากระตุ้นมรรถภาพทางเพศหรือการทำงานของลูกอัณฑะ แต่หากโอกาสในการตั้งครรภ์🤰ตามธรรมชาติของคุณผู้หญิงต่ำจริงๆก็อาจมีการใช้เทคนิคและเทคโนโลยีทางการแพทย์เข้าช่วยดังนี้ค่ะ
💫การฉีดน้ำอสุจิเข้าโพรงมดลูกโดยตรง ทำได้โดยกระตุ้นให้คุณผู้หญิงตกไข่ แล้วนำน้ำอสุจิของคุณผู้ชายฉีดเข้าไปเพื่อไปปฏิสนธิกับไข่โดยตรง เป็นการช่วยให้ตัวอสุจิเคลื่อนที่เข้าหาไข่ได้ง่ายและเร็วขึ้นค่ะ
💫การทำเด็กหลอดแก้ว เป็นการนำตัวอสุจิที่คัดเลือกแล้ว มาปฏิสนธิกับไข่ที่คัดเลือกแล้วเช่นกัน แต่ปฏิสนธินอกร่างกายของคุณแม่ ส่วนใหญ่การรักษาแบบนี้จะใช้กับคุณแม่ที่มีความผิดปกติของอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ หรือ คุณพ่อที่มีความผิดปกติของเชื้ออสุจิ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณน้อยเกินไป มีรูปร่างหรือการทำงานที่ไม่สมบูรณ์ค่ะ
💫การเก็บน้ำเชื้อของคุณผู้ชายเพื่อนำมาใช้วินิจฉัยและรักษา ก่อนนำไปปฏิสนธิกับไข่ของคุณผู้หญิงตามที่กล่าวไปใน 2 ข้อก่อนหน้าค่ะ
คุณผู้อ่านก็ได้ทำความรู้จักกับภาวะมีบุตรยากไปแล้วนะคะ จะเห็นได้ว่า แม้จะเป็นภาวะที่มีอัตราการเกิดค่อนข้างสูงถึงประมาณ 14% แต่ก็เป็นภาวะที่สามารถวินิจฉัยสาเหตุและมีแนวทางการรักษารองรับที่หลากหลายและชัดเจน ดังนั้น หากคุณผู้ชายและคุณผู้หญิงท่านใดวางแผนที่จะมีบุตรร่วมกันก็ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพร่างกายตั้งแต่ระยะแรกๆ หากพบว่ามีความเสี่ยงจะเกิดภาวะดังกล่าวจริงจะได้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที และเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการมีเจ้าตัวน้อยได้ค่ะ