post-title

อาการเท้าบวมระหว่างท้อง

หากคุณผู้อ่านเป็นคุณแม่ที่เคยประสบหรือกำลังประสบกับการแปลกๆอาการหนึ่ง นั่นก็คืออาการเท้าบวมในช่วงตั้งครรภ์ อย่าพึ่งตื่นตระหนกตกใจไปค่ะ บทความที่นี้จะพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จัก ทำความเข้าใจว่า อาการดังกล่าวมีอันตรายต่อร่างกายของคุณแม่เอง รวมไปถึงเจ้าตัวน้อยในท้องหรือไม่ค่ะ


ทำความรู้จักกับอาการเท้าบวมเบื้องต้น

อาการเท้าบวมนั้น

มีลักษณะตามชื่ออาการอย่างตรงไปตรงมา แต่หากลงรายละเอียด คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์จะมีลักษณะเท้าที่อยู่ๆก็บวมขึ้นมาบริเวณหลังเท้า🦶 แต่บวมไม่มากเกินไปกว่าระยะตาตุ่มขึ้นมา หากใช้นิ้วกดจะเห็นได้ว่าผิวหนังจะบุ๋มลงไป โดยการบวมในลักษณะนี้มักเกิดกับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 5 เดือนขึ้นไป เนื่องจากเป็นช่วงที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้รวดเร็ว ในคุณแม่บางท่านอาจมีการเท้าบวมช่วงใกล้ๆกำหนดคลอดก็ได้เหมือนกันค่ะ

อาการเท้าบวมเกิดจากอะไร

สำหรับเหตุผลในเชิงวิทยาศาสตร์ อาการเท้าบวม (คุณแม่บางรายอาจมีอาการมือบวมร่วมด้วย👋) เกิดจากการที่เซลล์ในร่างกายของคุณแม่ มีการกักเก็บน้ำมากกว่าปกติเมื่อเทียบกับตอนยังไม่ตั้งครรภ์ เพื่อเพิ่มอัตราการลำเลียงสารที่จำเป็นไปให้ลูกน้อยในครรภ์ค่ะ ประกอบกับช่วงที่อายุครรภ์มากขึ้น ร่างกายของทารกก็โตขึ้น มดลูกก็จะขยายใหญ่ขึ้นจนไปกดทับเส้นเลือด ทำให้มีเลือดที่คั่งอยู่บริเวณส่วนล่างของร่างกายค่อนข้างมากค่ะ นอกจากนี้ยังมีเหตุผลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน📈ในร่างกายของคุณแม่ระหว่างช่วงตั้งครรภ์อีกด้วยค่ะ

สำหรับเหตุผลในด้านการใช้ชีวิตทั่วไป อาการเท้าบวมอาจเกิดจากการที่คุณแม่ใส่รองเท้าที่แน่นคับเป็นเวลานานๆ เดิน ยืน หรือนั่งห้อยขาเป็นเวลานานๆโดยไม่ค่อยได้เปลี่ยนอิริยาบถ รวมไปถึงเหตุผลในเรื่องของอาหารการกิน  คือ คุณแม่อาจรับประทานอาหารที่มีสารอาหารจำพวกโซเดียมในปริมาณมาก🧂 หากพูดง่ายๆคือกินเค็มจัดนั่นเองค่ะ


เท้าบวมตอนท้องต้องทำยังไง

ในด้านของอาหารการกิน

สิ่งแรกที่คุณแม่ควรทำคือการดื่มน้ำเปล่าในปริมาณมากๆ และถี่ๆค่ะ🌊 นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมค่อนข้างเยอะ หรือหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัดนั่นเอง รวมไปถึงอาหารที่มีผงชูรสในปริมาณมากๆด้วยค่ะ

ในด้านของการออกกำลังกาย

คุณแม่ควรมีการออกกำลังกายเบาๆ หรือออกในระดับความเข้มข้นที่เหมาะสม (โดยผ่านการปรึกษาแพทย์มาแล้ว) อย่างสม่ำเสมอค่ะ อย่างน้อยที่สุดคุณแม่ควรเปลี่ยนอิริยาบถของร่างกายบ่อยๆค่ะ ไม่นอน ยืน เดิน หรือนั่งห้อยขานานจนเกินไป โดยตอนนอนอาจใช้วิธีการยกขาชันกับกำแพง หรือยกขาสูงเพื่อให้เลือด🩸ไหลกลับลงมายังร่างกายส่วนบนได้ง่ายขึ้นค่ะ

วิธีอื่นๆ

ใส่เสื้อผ้ารวมไปถึงเครื่องแต่งกายประเภทถุงเท้าและรองเท้าที่ค่อนข้างหลวม หรือพอดีตัว แต่ไม่คับจนเกินไป เพื่อทำให้เลือดสามารถไหลเวียนได้อย่างสะดวกค่ะ

ทำการแช่เท้าในน้ำอุ่นเป็นเวลาประมาณ 15-20 นาที ซึ่งน้ำที่ใช้แช่เท้านั้นสามารถหยดน้ำมันหอมระเหยลงไปควบคู่ได้ค่ะหากคุณแม่ต้องการกลิ่นหอม

    อย่างไรก็ตาม อาการเท้าบวม🦶  (รวมไปถึงอาการมือบวมในคุณแม่บางท่าน) ถึงแม้จะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายก็จริง แต่ก็มีระดับที่บ่งบอกว่านี่เป็นอาการบวมที่ผิดปกติเช่นเดียวกัน คุณแม่ควรหมั่นสังเกตระดับที่บวม หากเริ่มบวมในระดับที่สูงกว่าตาตุ่ม ลามขึ้นมาบริเวณหน้าแข้ง หรืออาจลามหนักขึ้นมาถึงบริเวณส่วนบนของร่างกายอย่างเช่นใบหน้า จะนับเป็นการบวมที่ผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีค่ะ