post-title

วิธีนับจำนวนครั้งที่ลูกดิ้น แบบไหนที่เรียกว่ากำลังดิ้น

คุณแม่หลายท่านคงรู้สึกตื่นเต้นดีใจ เมื่อได้สัมผัสว่าเจ้าตัวน้อยในครรภ์กำลังดิ้นหรือกำลังเตะท้องคุณแม่เบาๆใช่ไหมคะ แต่การที่ลูกดิ้นนั้นสามารถบอกอะไรได้มากกว่าเราคิด อาจไม่ใช่การสื่อสารหรือการตอบสนองต่อคุณแม่โดยไม่มีเหตุผล นอกจากนี้การดิ้นยังสามารถบอกความแข็งแรงของเจ้าตัวน้อยในครรภ์ได้อีกด้วย บทความของเราจะพาไปทำความเข้าใจกับการดิ้นของทารกในครรภ์ให้มากขึ้น เราไปดูกันเลยค่ะ


แบบไหนที่เรียกว่าลูกกำลังดิ้น

คำว่าดิ้นในที่นี้...

นับรวมตั้งแต่พฤติกรรมการถีบและเตะท้องของคุณแม่ การกระทุ้ง การหมุนพลิกตัว การโก่งตัว ซึ่งจะทำให้คุณแม่รู้สึกถึงแรงกระตุกเบาๆบริเวณท้อง โดยสามารถเกิดได้ตั้งแต่ช่วงที่คุณแม่มีอายุครรภ์ช่วง 3 เดือนแรกและ 3 เดือนกลาง แต่ในสองช่วงนี้เจ้าตัวน้อยในครรภ์มักดิ้นไม่เป็นเวลาค่ะ เมื่อเข้าช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ หรือการที่คุณแม่มีอายุครรภ์ประมาณ 28 สัปดาห์ขึ้นไป ลูกจะมีการดิ้น👶เป็นกิจวัตรหรือเป็นเวลามากยิ่งขึ้น ช่วงประมาณ 3 เดือนหลังของการตั้งครรภ์จึงเป็นช่วงที่คุณแม่ควรใส่ใจกับลักษณะและจำนวนครั้งที่เจ้าตัวน้อยดิ้นเป็นพิเศษค่ะ แต่การดิ้นของเด็กในครรภ์นั้นจะสามารถบอกอะไรได้บ้าง เราไปดูกันในหัวข้อต่อไปเลยค่ะ

ทำไมจึงต้องนับจำนวนครั้งที่ลูกดิ้น

ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ จำนวนครั้งที่เด็กดิ้นสามารถสื่อถึงภาวะและเงื่อนไขทางสุขภาพของทารกได้ หากลูกมีจำนวนครั้งในการดิ้นที่น้อยผิดปกติ ก็อาจสื่อถึงภาวะขาดออกซิเจน ภาวะน้ำคร่ำน้อย น้ำคร่ำรั่ว สายสะดือผูกปม สาเหตุเหล่านี้จะทำให้ทารกดิ้นน้อยลง และประมาณ 12-48 ชั่วโมงต่อมาทารกมีโอกาสจะเสียชีวิตค่ะ แต่หากทารกมีการดิ้นที่ปกติ สามารถบ่งบอกได้ว่าทารกพยายามตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบตัวอยู่ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับพัฒนาการทางด้านร่างกายและสมอง🧠ของทารกค่ะ


วิธีการนับจำนวนครั้งที่ลูกดิ้น

อย่างที่กล่าวไปว่า...

การนับลูกดิ้นจะสามารถสื่อถึงอะไรสักอย่างได้เมื่อคุณแม่เข้าสู่การตั้งครรภ์ใน 3 เดือนสุดท้าย ดังนั้นหากอายุครรภ์ของคุณแม่ยังไม่เข้าสู่ช่วงนี้ก็ยังไม่จำเป็นต้องนับค่ะ หากอายุครรภ์ของคุณแม่เข้าสู่ช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์แล้ว ช่วงเวลาที่จะนับลูกดิ้นได้จะมีประมาณ 1-2 ช่วง ซึ่งก็คือช่วงเช้า🌞และช่วงเย็นของวันนั้นๆนั่นเองค่ะ

เมื่อรู้สึกถึงแรงกระตุกหรือแรงกระแทกบริเวณท้อง....

1 ครั้งให้นับเป็น 1 ครั้ง และเมื่อรู้สึกในครั้งต่อๆไปก็ให้นับทบยอดจากครั้งแรก เป็นครั้งที่ 2 3 4 ไปเรื่อยๆจนกว่าจะหยุด โดยปกติแล้วในระยะเวลา 1 ชั่วโมง (เริ่มจับเวลาตั้งแต่ครั้งแรกที่รับรู้ได้ถึงแรงกระแทก) จะต้องรับรู้ถึงการดิ้น 4 ครั้งขึ้นไปค่ะหากในชั่วโมงแรกเด็กยังดิ้นไม่ถึง 4 ครั้ง ให้คุณแม่เริ่มจับเวลาในชั่วโมงที่สองต่อเลย และหากในช่วงชั่วโมงที่สอง เด็กยังคงดิ้นไม่ถึง 4 ครั้ง (นับต่อจากชั่วโมงแรกได้เลย) ถือเป็นสัญญาณที่ผิดปกติ คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์เจ้าของครรภ์👨‍⚕️ทันทีค่ะ คุณแม่ควรกำหนดช่วงเวลาในแต่ละวันที่จะทำการนับลูกดิ้นอย่างชัดเจน เพื่อจะได้นับในช่วงเวลาเดิมทุกวัน หากวันไหนมีจำนวนครั้งการดิ้นที่ผิดปกติจะได้จับสังเกตได้ และสามารถไปพบแพทย์เจ้าของครรภ์ได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดความผิดปกติค่ะ


 รู้สึกว่าทารกดิ้นน้อยจะทำอย่างไรดี

หากคุณแม่ได้ทำการนับจำนวนครั้งที่เจ้าตัวน้อยดิ้น....

แล้วพบว่าจำนวนครั้งนั้นน้อยกว่าปกติ ควรไปพบแพทย์ทันทีค่ะ และระหว่างที่ไปพบแพทย์ควรงดน้ำงดอาหารไว้ก่อน เผื่อมีกรณีฉุกเฉินที่คุณแม่จะต้องผ่าตัดด่วนทันทีค่ะ🚨 แต่หากอยู่ในความดูแลของแพทย์แล้ว แพทย์เจ้าของครรภ์วินิจฉัยว่าทารกไม่ได้มีความผิดปกติอะไร คุณแม่ก็ยังจำเป็นที่จะต้องนับจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะคลอดค่ะ

รักษาสุขภาพด้วยวิธีทั่วไป....

ซึ่งหมายถึงการควบคุมโภชนาการ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณและความถี่ที่เหมาะสม ออกกำลังกายเบาๆบ้าง (ตามคำแนะนำของแพทย์) เป็นครั้งคราว และพักผ่อนอย่างเพียงพอค่ะ ลดปริมาณคาเฟอีน☕ที่รับในแต่ละวันลง งดสารเสพติดทุกประเภททั้งกลุ่มที่ผิดกฎหมายและถูกกฎหมายค่ะ

คุณผู้อ่านได้อ่านมาถึงตรงนี้คงจะทราบแล้วนะคะ ว่าพฤติกรรมเล็กๆน้อยๆของเจ้าตัวน้อยในครรภ์อย่างการดิ้น สามารถบอกอะไรเราได้มากกว่าที่คิด ดังนั้นตัวคุณแม่เองจึงควรนับการดิ้นของลูกอยู่เสมอ และไม่ควรมองข้ามสัญญาณเล็กๆน้อยจากทารกในครรภ์ค่ะ