post-title

กำลังตั้งครรภ์อยู่ทานหวานอันตรายไหมนะ?

เป็นคำถามที่คุณแม่ที่ตั้งครรภ์อยู่หลายๆคนสงสัย เนื่องจากเวลาเครียดๆ หรือระดับฮอร์โมนสวิง จะทำให้แม่ที่ตั้งครรภ์หลายคนอยากทานของหวาน แต่ก็เกิดความกังวลว่า ท้องอยู่ทานหวานได้มั้ย? จะอ้วน หรือส่งผลต่อลูกในครรภ์บ้างรึเปล่า? ซึ่งปกติแล้ว เป็นข่าวดีว่า คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ก็สามารถทานอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีนํ้าตาลได้ แต่ก็ควรจำกัดปริมาณนํ้าตาลให้เหมาะสม เพราะหากมากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเบาหวานแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ โรคอ้วน ปริมาณนํ้าตาลในเลือดสูง ซึ่งนอกจากส่งผลเสียต่อคุณแม่แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ด้วย เพราะฉะนั้น วันนี้เรามาหาคำตอบด้วยกันว่า ควรทานนํ้าตาลในปริมาณเท่าไหร่ และหากมากเกินไปจะส่งผลอะไรบ้าง


ตั้งครรภ์อยู่ ควรทานนํ้าตาลในปริมาณเท่าใด

การทานหวานขณะตั้งครรภ์อยู่ อาจยังไม่มีคำแนะนำที่เป็นมาตรฐาน

แต่โดยปกติแล้ว ไม่ควรบริโภคนํ้าตาลเกิน 25 กรัม ต่อวัน หรือประมาณ 6 - 8 ช้อนชา ตามคำแนะนำของสำนักโภชนาการกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เพราะฉะนั้นควรงดอาหารจำพวกนํ้าอัดลม โดยใน 1 กระป๋องมีนํ้าตาล 7 - 10 ช้อนชา รวมถึงระมัดระวังเครื่องดื่มอื่นๆที่ใส่นํ้าตาลเข้าไปด้วย เช่น ชามะนาว ชาเขียว🍵 น้ำเก๊กฮวย น้ำขิงและน้ำผลไม้ปั่นมีน้ำตาลประมาณ 3 - 6 ช้อนชา

นอกจากนี้ควรระวังผลไม้ที่มีนํ้าตาลสูง

เช่น กล้วยหอม🍌 มะม่วงสุก แตงโม องุ่น อย่างไรก็ตาม คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับปริมาณน้ำตาลที่แนะนำต่อวันที่เหมาะสมต่อสุขภาพ และปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ได้ เนื่องจากการรับนํ้าตาลนั้น อาจขึ้นอยู่กับระดับเผาผลาญในร่างกาย ระดับนํ้าตาลในเลือด และนํ้าหนักตัว


หากตั้งครรภ์อยู่ทานนํ้าตาลมากเกินไป ส่งผลกระทบด้านสุขภาพอะไรต่อบ้าง

🍭 ทำให้นํ้าหนักตัวเพิ่มขึ้น

โดยปกติคุณแม่ตั้งครรภ์อยู่จะมีนํ้าหนักตัวเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว หากทานหวานมากขึ้นไปอีก จะส่งผลต่อนํ้าหนักตัวที่สูงขึ้น จนนํ้าหนักเกิน และเสี่ยงต่อโรคอ้วน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการคลอดลูก และการพัฒนาการของเด็กในครรภ์👶 เช่น คลอดก่อนกำหนด ทารกตายก่อนคลอด (Stillbirth) ทารกพิการแต่กำเนิด เป็นต้น

🍭 ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย

การที่ได้รับนํ้าตาลในปริมาณสูง อย่างนํ้าตาลทราย หรือนํ้าตาลซูโครส (Sucrose) จะทำให้ระดับนํ้าตาลในเลือดแปรปรวน คือมีนํ้าตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้น และลดลงอย่างชับพลัน ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย และง่วงนอน

🍭 ส่งผลกระทบต่อลูกในครรภ์

หากกินน้ำตาลมากจนมีภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ จะส่งผลต่อการพัฒนาการของลูก ทำให้เกิดความเสี่ยงภาวะพิการแต่กำเนิด เช่น หัวใจพิการ🫀 สมองพิการ นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลต่อการคลอด คือ ทำให้ทารกคลอดก่อนกำเนิด มีน้ำหนักตัวแรกคลอดเยอะเกินไป นอกจากนี้ยังส่งผลต่ออาการแพ้ต่างๆของลูกได้

โดยมีงานวิจัยพบว่า หากเด็กได้รับนํ้าตาลฟรุกโตส (นํ้าตาลที่มักผสมในเครื่องดื่ม) ในปริมาณมากตอนอยู่ในครรภ์ จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืดในเด็กได้มากกว่า คุณแม่ที่หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มรสหวานในช่วงครรภ์ วิจัยนี้อยู่ในวารสาร Annals of the American Thoracic Society เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคฟรุกโตสช่วงที่เป็นทารกในครรภ์และช่วงวัยเด็ก กับความเสี่ยงในการเกิดโรคหอบหืดเมื่อเป็นเด็กวัยเรียน

🍭 เสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ

จากงานวิจัยในวารสาร European Journal of Clinical Nutrition เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคน้ำตาลในช่วงตั้งครรภ์และความเสี่ยงในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ โดยพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษบริโภคน้ำตาลมากกว่ากลุ่มที่สุขภาพดี โดยเฉพาะอาหารน้ำตาลสูง เครื่องดื่มรสหวานทั้งอัดลมและไม่อัดลม🥤 

🍭  เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสารให้ความหวานอื่นๆ

โดยปกติแล้ว สารให้ความหวานแทนนํ้าตาลนั้น ไม่ได้มีอันตรายต่อแม่ตั้งครรภ์ รวมถึงลูกในครรภ์มากนัก แต่สารที่ควรหลีกเลี่ยงคือ สารแซ็กคาริน หรือขัณฑสกร (Saccharin) เพราะจากการศึกษาวิจัยพบว่า สารนี้เพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ของลูกน้อยในครรภ์ได้ แต่ทั้งนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ หรือนักโภชนาการเพื่อคำนึงถึงความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นปริมาณนํ้าตาลเทียม หรือนํ้าตาลทรายขาวทั่วไปไปพร้อมกัน