post-title

การตั้งครรภ์นอกมดลูก อาการและวิธีป้องกัน

     การเกิดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์ของคุณแม่นั้นนับเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ค่อนข้างยาก และไม่มีใครอยากให้เกิด เพราะภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อสุขภาพของทั้งคุณแม่เองและเจ้าตัวน้อยในครรภ์ด้วยกันทั้งคู่ วันนี้บทความของเราพาคุณผู้อ่านมารู้จักกับอีกหนึ่งภาวะแทรกซ้อนซึ่งนับเป็นเรื่องน่ากังวลของคุณแม่ นั่นก็คือ “ภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก” นั่นเองค่ะ เราไปทำความรู้จักและความเข้าใจถึงภาวะนี้ให้ลึกซึ้งขึ้นกันเลยค่ะ


ตั้งครรภ์นอกมดลูกคืออะไร

      โดยปกติแล้ว หลังจากที่ไข่ของคุณแม่ได้รับการปฏิสนธิกับตัวอสุจิของคุณพ่อ ก็จะเกิดชีวิตชีวิตหนึ่งขึ้น ซึ่งก็คือเราทุกคนในระยะที่เป็นตัวอ่อนนั่นเองค่ะ โดยตัวอ่อนที่มาจากการผสมนี้ก็จะมีตำแหน่งฝังตัวอย่างเป็นปกติคือบริเวณภายในโพรงมดลูกนั่นเองค่ะ ดังนั้นภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก🤰ก็คือภาวะที่ตัวอ่อนหลังการผสมไปฝังตัวบริเวณอื่นๆนอกโพรงมดลูก สามารถฝังตัวได้หลายบริเวณมาก ไม่ว่าจะเป็นบริเวณท่อนำไข่ ปากมดลูก หรือรังไข่ ซึ่งเป็นเพียงตัวอย่างบริเวณที่ตัวอ่อนจะฝังได้เท่านั้น ยังมีอีกหลายบริเวณใกล้เคียงโพรงมดลูกที่สามารถเป็นไปได้ แต่ทุกพื้นที่นอกบริเวณโพรงมดลูกก็นับเป็นภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูกทั้งหมดค่ะ


ทำไมคุณแม่จึงตั้งครรภ์นอกมดลูก

✨เกิดจากความผิดปกติบริเวณท่อนำไข่ของคุณแม่ ไม่ว่าจะเป็นการอักเสบตั้งแต่เกิด หรือพึ่งมาอักเสบภายหลังก็ได้ หรืออาจเป็นความผิดปกติบริเวณปีกมดลูกและอุ้งเชิงกราน ไม่ว่าจะเป็นการเกิดพังผืด และความผิดปกติที่มาจากอาการติดเชื้อบริเวณระบบสืบพันธุ์ก็ได้เช่นกันค่ะ

✨เกิดจากความผิดปกติที่เป็นผลกระทบจากการคุมกำเนิดของคุณแม่ ไม่ว่าจะเป็นผลข้างเคียงของการใช้ห่วงคุมกำเนิด หรือการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน

✨มีโอกาสที่จะเกิดกับคุณแม่ที่ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์มาช่วยในการเจริญพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นด้วยเทคนิคที่เรารู้จักกันดี ยกตัวอย่างเช่นการทำกิฟต์ หรือการทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งจะมีขั้นตอนการฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ค่ะ

✨เกิดจากการที่คุณแม่มีประวัติการตั้งครรภ์นอกมดลูกมาก่อนอยู่แล้ว หรือคุณแม่ที่มีประวัติการใช้ยาเสพติด ยกตัวอย่างเช่นพฤติกรรมการสูบบุหรี่จัดค่ะ

✨มีโอกาสที่จะเกิดกับคุณแม่ที่มีอายุค่อนข้างมาก ประมาณ 35 ปีขึ้นไป


พฤติกรรมที่บ่งบอกว่ามีโอกาสเกิดภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก

สำหรับคุณผู้หญิงที่ยังไม่ตั้งครรภ์

แต่มีภาวะขาดประจำเดือนหรือการที่ประจำเดือน🩸มาไม่ปกติ ก็นับว่าเป็นหนึ่งอาการเสี่ยง ที่เมื่อคุณผู้หญิงตั้งครรภ์แล้วจะมีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูกค่ะ

สำหรับคุณผู้หญิงที่เป็นคุณแม่เรียบร้อยแล้ว

หากมีอาการปวดท้องเหมือนโดนบีบรัดเป็นพักๆ หรือมีเลือดออกที่มากผิดปกติจากช่องคลอด (ช่วงตั้งครรภ์คุณแม่ไม่สามารถมีประจำเดือนได้อยู่แล้ว อาจมีเลือดล้างหน้าเด็กได้ในช่วงเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ แต่ก็จะเป็นเลือดที่ออกในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น) การเสียเลือดในปริมาณมากจะนำไปสู่ภาวะช็อกจากการตกเลือดได้ อาการยิบย่อยที่ตามมาหลังภาวะช็อคประกอบไปด้วยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการที่คุณแม่ปวดรุนแรงบริเวณท้องน้อยร้าวไปจนถึงไหล่ มีเหงื่อออก💦 ตัวเย็นลง ชีพจรเบาแต่เร็วกว่าปกติ และหมดสติในที่สุดค่ะ


จะป้องกันภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูกได้อย่างไร

ป้องกันพฤติกรรมใดก็ตามที่ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อบริเวณระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ไม่ว่าจะเป็นการอุปกรณ์ป้องกันระหว่างมีเพศสัมพันธุ์ เช่น ถุงยางอนามัย มีพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย

คุณแม่ควรลด ละ เลิกพฤติกรรมการเสพสารเสพติดทุกประเภท ทั้งในกลุ่มที่ผิดกฎหมายและถูกกฏหมาย โดยเน้นไปที่การลดการสูบบุหรี่ค่ะ🚬⛔

       อันที่จริงแล้ว ภาวะการตั้งครรภ์นอกมดลูกนั้นอาจเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่เราลดโอกาสเสี่ยงทีจะเกิดภาวะดังกล่าวได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่คุณแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการผิดปกติระหว่างการตั้งครรภ์ของตนเอง แม้จะเป็นความผิดปกติเพียงเล็กน้อยก็ไม่ควรประมาทหรือมองข้าม ควรรีบมาพบแพทย์เจ้าของครรภ์ทันทีค่ะ