post-title

ยาที่คุณแม่ควรเลี่ยงขณะตั้งครรภ์

      สำหรับคุณผู้อ่านที่อาจเป็นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือมีคนรอบตัวที่กำลังตั้งครรภ์ หนึ่งในประเด็นที่น่าจะเป็นกังวลก็คือข้อกำหนดและข้อห้ามในการได้รับยาชนิดต่างๆของคุณแม่ใช่ไหมคะ บทความนี้จะพาคุณผู้อ่านมาดูกันค่ะว่า สำหรับยาแต่ละกลุ่มที่เรามีโอกาสได้ใช้บ่อยๆในชีวิตประจำวัน คุณแม่สามารถใช้ยาตัวไหนได้และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาตัวไหน


ประเภทยาที่ควรเลี่ยงระหว่างตั้งครรภ์

ยาในกลุ่มบรรเทาปวดและลดไข้

นับเป็นยากลุ่มที่เราทุกคนมีโอกาสใช้ในชีวิตประจำวันมากที่สุดเลย ตัวยาที่คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถใช้ได้หากจำเป็น จะเป็นยาในกลุ่มพาราเซตามอล💊 ส่วนตัวยาที่ควรหลีกเลี่ยงได้แก่ ยาในกลุ่มแอสไพริน ยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) และตัวยาไอบูโพรเฟนค่ะ

ยาในกลุ่มออกฤทธิ์บรรเทาอาการไอและคัดจมูก

กลุ่มนี้รวมไปถึงฤทธิ์ในการขับเสมหะและละลายเสมหะด้วย อันที่จริงยาในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ควรหลีกเลี่ยงด้วยกันทั้งนั้น เพราะมีโอกาสที่จะส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ค่อนข้างมาก🤰 ไม่ว่าจะเป็นตัวยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน เอ็น-อะซิทิลซิสเทอีน ไกวเฟเนซิน ไดเฟนไฮดรามีน และแอมบรอกซอน ตัวยาเหล่านี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ค่ะ ในส่วนของตัวยาในกลุ่มบรรเทาเอาการคัดจมูก👃 ควรหลีกเลี่ยงตัวยาซูโดอีเฟรดีน ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครภ์เช่นเดียวกัน ส่วนยาใช้ภายนอก เช่น ยาที่มีส่วนผสมของเมนทอลที่ช่วยให้คุณแม่หายใจโล่งสบายขึ้น คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์สามารถใช้ได้ค่ะ


ยาที่ออกฤทธิ์เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารและการขับถ่าย

กลุ่มบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน

ตัวยาที่ใช้ในคุณแม่ตั้งครรภ์ได้หากมีความจำเป็น ได้แก่ ไดเฟนไฮดรามีน ไพริดอกซีน (วิตามินบี 6) เมไคลซีน และไซไคลซีน ส่วนยาที่สามารถใช้ได้แต่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ ยาในกลุ่มเมโทโคลพราไมด์ ส่วนตัวยาที่ควรหลีกเลี่ยง คือ ตัวยาดอมเพอริโดน เพราะมีรายงานว่าส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ🫀ของเจ้าตัวน้อยในครรภ์ค่ะ

กลุ่มบรรเทาอาการท้องเสีย

คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรเลี่ยงตัวยาในกลุ่มโลเพอราไมด์ แต่หากมีอายุครรภ์เกิน 3 เดือนขึ้นไปสามารถใช้ได้ แต่ในเรื่องของความถี่และปริมาณการรับประทานควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรค่ะ👨‍⚕️ ส่วนผงเกลือแร่และยาผงถ่านนั้น คุณแม่สามารถรับประทานได้ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มีผลเสียหรืออันตรายต่อร่างกายของคุณแม่และเจ้าตัวน้อยในครรภ์ค่ะ

กลุ่มบรรเทาอาการท้องผูก

ยาที่ออกฤทธิ์เพิ่มปริมาณอุจจาระ ไม่ว่าจะเป็นไฟเบอร์หรือเมทิลเซลลูโลส สามารถใช้กับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ได้ค่ะ🤰 ยาในกลุ่มมะขามแขกและบิซาโคดิลก็สามารถใช้ได้เช่นเดียวกัน ส่วนตัวยาในกลุ่มโพลีเอทิลีนไกลคอล (PEG) และด็อกคิวเสต สามารถใช้ได้เช่นเดียวกันแต่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ควรใช้เป็นครั้งคราวเท่านั้นค่ะ

กลุ่มรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้

เช่น พวกยาลดกรด สำหรับยาที่สามารถใช้ได้จะเป็นยาที่มีสารประกอบเป็นอะลูมินัม แต่หากมีสารประกอบของแมกนีเซียมด้วยก็ควรเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ เช่น ยาในกลุ่มต้านฮีสตามีนบางชนิด ไม่ว่าจะเป็น ไซเมทิดีน รานิทิดีน ฟาโมทิดีน ในส่วนของยากลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ตัวยาประเภทโอเมพราโซล เอสโซเมพราโซล แลนโซพราโซล และราเบพราโซลค่ะ เพราะมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มายืนยันด้านความปลอดภัยต่อคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ค่อนข้างน้อย👀

กลุ่มยาขับลม

เช่น ตัวยาไซเมทิโคน สามารถใช้ได้ในคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์เจ้าตัวน้อยค่ะ


ประเภทยาอื่นๆ

ยาที่ออกฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย (ยาฆ่าเชื้อ)

คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์สามารถใช้ตัวยาเหล่านี้ได้หากมีความจำเป็นและไม่มีประวัติแพ้ยามาก่อน โดยจะเป็นตัวยาในกลุ่มเซฟาโลสปอริน เซฟาเลกซิน เซฟิซิม เซฟดิเนียร์ อิริโทรไมซิน อะซิโทรไมซิน อะม็อกซิซิลลิน และแอมพิซิลิน ส่วนกลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงตลอดช่วงของการตั้งครรภ์ ได้แก่ ยากลุ่มคลาริโทรไมซิน ควรหลีกเลี่ยงเป็นพิเศษในคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ 3 เดือนแรกค่ะ😨 และอีกกลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงในช่วงหลัง 3 เดือนแรกต่อไปอีก ได้แก่ ยากลุ่มที่มีสารประกอบประเภทฟลูออโรควิโนโลนและกลุ่มเตตระไซคลินค่ะ

ยาที่ใช้ภายนอกร่างกาย

ยกตัวอย่างเช่น ยาทาที่ออกฤทธิ์ในการรักษาแผลที่ติดเชื้อแบคทีเรีย ไม่ว่าจะเป็นตัวยาบาซิทราซิน นีโอไมซิน และโพลีมิกซินบี คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์สามารถใช้ได้ในระยะเวลาสั้นๆ และใช้ตามความจำเป็นเท่านั้นค่ะ อีกกลุ่มคือยาที่ออกฤทธิ์ในการรักษาโรคเกี่ยวกับเชื้อรา🦠 เช่น ตัวยาไมโคนาโซล อีโคนาโซล นิสแททิน กลุ่มนี้ก็สามารถใช้ตามความจำเป็นได้เช่นเดียวกันค่ะ ส่วนยาทาชนิดสเตียรอยด์ หากจำเป็นก็สามารถใช้ได้ แต่ควรเลือกเป็นตัวที่มีฤทธิ์ไม่แรงมาก เช่น ตัวยาไฮโดรคอร์ติโซนค่ะ

     อ่านมาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านหลายท่านอาจมีความกังวลว่าจะจำชื่อตัวยาไม่ได้ นั่นไม่เป็นปัญหาค่ะ เพราะทุกครั้งที่เราใช้ยา หากไม่ใช่ยาในกลุ่มสามัญประจำบ้าน เราควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนอยู่แล้ว เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับเงื่อนไขสุขภาพที่มีความหลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละคน ประกอบกับปริมาณและความถี่ในการใช้ เพื่อความปลอดภัยของเราทุกคนนะคะ