post-title

อายุขนาดนี้ไข่ของเราจะมีอยู่ไหม?

      ค่อนข้างเป็นที่เข้าใจตรงกันใช่ไหมคะว่า สภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันอาจไม่ได้ส่งเสริมให้คุณผู้หญิงมีความพร้อมที่จะตั้งครรภ์ในวัยเจริญพันธุ์มากนัก สำหรับคุณผู้หญิงที่อยากมีเจ้าตัวน้อยแต่ตนเองยังไม่พร้อม อาจกำลังกังวลว่าในอนาคตที่เราพร้อมแล้ว ไข่ของเราจะยังมีคุณภาพที่ดีพอที่จะมีเจ้าตัวน้อยได้หรือไม่ แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าไข่ของเราพร้อมหรือไม่พร้อม บทความนี้มีคำตอบให้คุณผู้อ่าน เรามารู้จักวิธีการทางการแพทย์ที่เรียกว่า “การตรวจ AMH กันเลยค่ะ”


ทำความรู้จักกับ AMH

AMH นั้นย่อมาจากคำว่า...

“Anti-Mullerian Hormone” หากพูดง่ายๆ มันคือชื่อย่อของเจ้าฮอร์โมนตัวหนึ่งในร่างกายของคุณผู้หญิง👩นั่นเองค่ะ ความพิเศษของเจ้าฮอร์โมนตัวนี้ก็คือ มันสามารถบอกระดับหรือประสิทธิภาพการทำงานของรังไข่ได้ค่ะ เนื่องจากเป็นฮอร์โมนที่ถูกสร้างขึ้นจากไข่ของคุณผู้หญิงเอง หากมีมากก็แปลว่าไข่ของคุณผู้หญิงมีจำนวนมาก มีน้อยก็แสดงว่าไข่ของคุณผู้หญิงมีจำนวนน้อย📉 ฮอร์โมนตัวนี้จึงสื่อถึงจำนวนของไข่ในร่างกายของคุณผู้หญิงอย่างตรงตัวค่ะ

การตรวจ AMH ทำได้อย่างไร

เนื่องจากเจ้าฮอร์โมนตัวนี้มีประโยชน์ในแง่ของการบอกประสิทธิภาพการทำงานของรังไข่และจำนวนไข่ของคุณผู้หญิง และสามารถพบได้ในกระแสเลือด🩸ของคุณผู้หญิงเอง แพทย์จึงสามารถทำการเจาะเลือดเพื่อวัดระดับเจ้าฮอร์โมนตัวนี้ได้ เมื่อทราบระดับของฮอร์โมนตัวนี้ ก็จะสามารถวินิฉัยได้ว่าคุณผู้หญิงมีภาวะเสี่ยงที่จะมีบุตรยากหรือไม่ หากมีความเสี่ยงต้องดูแลรักษาอย่างไร นอกจากการดูแลรักษาก็จะเป็นส่วนของการวางแผนใช้วิธีการผสมเทียม ว่าเงื่อนไขทางสุขภาพของคุณผู้หญิงเหมาะที่จะใช้วิธีใดในการผสมเทียม


การตรวจ AMH เหมาะกับใคร

✨เหมาะกับคุณแม่ที่พยายามตั้งครรภ์ด้วยวิธีตามธรรมชาติมานานกว่า 6 เดือนแล้วยังไม่สำเร็จ การตรวจ AMH จะช่วยให้คุณแม่สามารถทราบได้ว่าตนเองเข้าข่ายเป็นคุณผู้หญิงที่กำลังประสบกับภาวะมีบุตรยากหรือไม่ หากเข้าข่ายจะได้พิจารณาเทคโนโลยีทางการแพทย์👩‍⚕️ต่างๆเข้ามาช่วยค่ะ

✨เหมาะกับคุณแม่ที่วางแผนจะใช้วิธีการผสมเทียมในอนาคต เนื่องจากการตรวจระดับ AMH จะบ่งบอกถึงจำนวนไข่ได้ จึงบ่งบอกได้ว่ากระบวนการกระตุ้นให้ไข่ตกระหว่างการผสมเทียมนั้นเป็นไปได้ด้วยดีและราบรื่นหรือไม่ค่ะ

✨เหมาะกับคุณแม่ที่มีประวัติการรักษามะเร็ง🦠ด้วยเคมีบำบัดหรือการผ่าตัดรังไข่ค่ะ เพราะการตรวจวัดระดับ AMH จะสามารถช่วยบอกได้ว่า การรักษาที่ผ่านมาของคุณแม่นั้น มีผลข้างเตียงต่อการมีบุตรในอนาคตหรือไม่ค่ะ

จะเห็นแล้วนะคะว่าเจ้าฮอร์โมน AMH นั้นมีประโยชน์มาก นอกจากจะช่วยวินิฉัยและวางแผนการรักษาภาวะมีบุตรยากในร่างกายคุณผู้หญิงแล้ว ยังช่วยในแง่ของการวินิฉัยความผิดปกติอื่นๆของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ยกตัวอย่างเช่น ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบค่ะ ช่วงเวลาที่เหมาะกับการตรวจก็ไม่ได้มีการกำหนดชัดเจน เนื่องจากระดับของ AMH นั้นไม่ได้สัมพันธ์กับวงจรรอบเดือน และไม่จำเป็นต้องงดน้ำหรืออาหารล่วงหน้าก่อนตรวจอีกด้วยค่ะ รับเป็นการตรวจที่ไม่ยุ่งยากเลยทีเดียว ดังนั้นการตรวจระดับ AMH จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจสำหรับคุณผู้หญิงที่กำลังวางแผนจะมีเจ้าตัวน้อยในอนาคตค่ะ