post-title

ทารกโตช้าในครรภ์

     คุณแม่ท่านใดที่กำลังตั้งครรภ์🤰แต่ตนเองมีขนาดหน้าท้องที่เล็ก อาจกำลังกังวลว่าเจ้าตัวน้อยในครรภ์จะมีขนาดตัวที่เล็กตามหรือไม่ แต่คุณแม่ทราบไหมคะว่ายังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าพิจารณาควบคู่กับภาวะลูกตัวเล็กเช่นเดียวกัน ภาวะนั้นก็คือ “ภาวะทารกโตช้าในครรภ์” สำหรับคุณผู้อ่านท่านใดที่พึ่งเคยเห็นภาวะนี้หรือไม่คุ้นเคยกับภาวะนี้มาก่อน เราไปทำความรู้จักพร้อมๆกันเลยค่ะ💁‍♀️


ภาวะทารกโตช้าในครรภ์คืออะไร?

    ภาวะนี้เรียกได้อีกชื่อว่าภาวะ FGR ซึ่งมาจากคำว่า Fetal Growth Restriction ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งภาวะแทรกซ้อนสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ค่ะ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและทันท่วงที ภาวะดังกล่าวอาจทำให้ทารกในครรภ์เติบโตช้ากว่าที่ควรจะเป็น ทั้งในด้านขนาดร่างกาย การพัฒนาของระบบอวัยวะภายในร่างกายโดยเฉพาะระบบประสาท🧠ค่ะ นอกจากจะทำให้ทารกมีแนวโน้มที่จะมีร่างกายไม่สมบูรณ์แล้วยังเพิ่มอัตราการเสียชีวิตในครรภ์อีกด้วยค่ะ หากไม่เสียชีวิต☠️ในครรภ์ก็อาจมีปัญหาหลังคลอด ทารกหลังคลอดอาจมีปัญหาเกี่ยวกับระบบการเผาผลาญของร่างกาย มีโรคประจำตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ🫀 โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจผิดปกติและโรคหัวใจ รวมไปถึงโรคหลอดเลือดในสมองผิดปกติอีกด้วยค่ะ

เกณฑ์ในการประเมินว่าทารกมีภาวะโตช้าในครรภ์

ในการตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์จะคำนึงถึงหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้เทียบกับอายุครรภ์ของคุณแม่ ไม่ว่าจะเป็นการวัดขนาดและน้ำหนักตัวของทารก👶 เช่น ความกว้างของศรีษะ เส้นรอบวงของศีรษะ เส้นรอบวงในส่วนท้อง ความยาวของกระดูกต้นขา🦵ของเด็ก โดยจะสามารถวัดได้ด้วยการใช้การอัลตราซาวด์🩻เข้าช่วยค่ะ


ทำไมจึงเกิดภาวะโตช้าในครรภ์

👉ในส่วนของสาเหตุจากร่างกายคุณแม่ อาจเกิดจากการที่คุณแม่กำลังประสบกับภาวะแทรกซ้อนอื่นๆจนไปถึงโรคประจำตัวระหว่างการตั้งครรภ์🤰 หรือการที่คุณแม่ขาดสารอาหารบางกลุ่มหรือได้รับพลังงานจากอาหารในแต่ละวันไม่เพียงพอ คุณแม่บางท่านอาจกำลังมีภาวะต้านฟอสโฟลิพิด หรือมีปัญหาเกี่ยวกับความสามารถในการแข็งตัวของเลือด🩸ค่ะ นอกจากนี้พฤติกรรมการใช้สารเสพติดของคุณแม่ก็เกี่ยวข้อง รวมไปถึงผลข้างเคียงจากการใช้ยา💊รักษาโรคบางชนิดอีกด้วยค่ะ

👉ในส่วนของสาเหตุจากร่างกายของเด็กเอง อาจเกิดจากทารกในครรภ์มีโรคทางพันธุกรรม🧬 ส่งผลให้เกิดการแบ่งเซลล์ระหว่างการเติบโตในครรภ์ผิดปกติ นำมาสู่ความพิการหรือการบกพร่องทางด้านการเจริญเติบโตได้ค่ะ รวมไปถึงการที่ทารกอาจกำลังติดเชื้อ🦠ก่อโรค หรือได้รับสารเคมีบางชนิดที่ไปรบกวนกระบวนการเจริญเติบโตและการพัฒนาระบบเผาผลาญของร่างกายเด็กเองค่ะ สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด👯‍♂️ก็อาจส่งผลให้ทารกในครรภ์เติบโตช้าได้เช่นเดียวกันค่ะ

👉มาจากความผิดปกติของรกและสายสะดือ คุณแม่อาจมีความผิดปกติของการไหลเวียนเลือดบริเวณรกที่ผิดปกติ รวมไปถึงความผิดปกติในแง่ของโครงสร้างและการทำงานของรกและความผิดปกติทางด้านการทำงานของสายสะดือด้วยค่ะ

แนวทางการป้องกันภาวะทารกโตช้าในครรภ์

✨สำหรับแนวทางการป้องกัน เป็นการดูแลรักษาสุขภาพร่างกายของคุณแม่ทั่วไปเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร🍽️ให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม ดื่มน้ำเปล่า💧ที่สะอาดให้ได้ประมาณวันละ 8 แก้ว พักผ่อนด้วยการนอนหลับ😴ไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน หลีกเลี่ยงการเสพสิ่งเสพติด🚬ทั้งกลุ่มถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย รวมไปถึงการรับประทานอาหารที่มีคาเฟอีน และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการฝากครรภ์กับสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญค่ะ

✨คุณแม่ควรสังเกตการดิ้นของทารกในครรภ์เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายของการตั้งครรภ์ ซึ่งมักสังเกตได้เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 7 เดือนขึ้นไป หากสังเกตว่าเจ้าตัวน้อยในครรภ์ดิ้นน้อยกว่า 3 ครั้งใน 1 ชั่วโมงหลังจากการรับประทานอาหาร ควรรีบเข้ารับการตรวจครรภ์จากแพทย์👨‍⚕️ทันที ไม่ควรนิ่งนอนใจค่ะ

     อ่านมาถึงตรงนี้เราก็ได้รับรู้กันไปแล้วนะคะว่าภาวะทารกโตช้าในครรภ์นั้นเกิดควบคู่ไปกับภาวะทารกในครรภ์มีน้ำหนักตัวน้อยหรือตัวเล็กนั่นเอง ซึ่งก็นับเป็นภาวะที่ควรเฝ้าระวังสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์🤰ไม่แพ้กันเลย ดังนั้นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรหมั่นสังเกตสุขภาพร่างกายของตนเองและเจ้าตัวน้อยในครรภ์ ว่ามีความปกติอะไรเกิดขึ้นอยู่หรือไม่ แม้จะเพียงเล็กน้อยก็ไม่ควรนิ่งนอนใจเพราะอาจนำมาสู่ความผิดปกติที่มีความรุนแรงมากขึ้นได้ค่ะ