คงเป็นที่ทราบกันดีใช่ไหมคะ ว่าในคุณผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์นั้น🤰 ร่างกายอาจมีความอ่อนไหวกับภาวะขาดสารอาหารมากเป็นพิเศษ ในส่วนของสารอาหารกลุ่มที่ให้พลังงาน ไม่ว่าจะเป็นคาร์โบไฮเดรต🍚 โปรตีน🍣 ไขมัน กลุ่มเหล่านี้ไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ในคุณแม่ที่รับประทานอาหารได้อย่างปกติ แต่ในส่วนของแร่ธาตุและวิตามิน เป็นสารอาหารประเภทที่ไม่ให้พลังงานและกะประมาณปริมาณที่ควรได้รับได้ค่อนข้างยาก ทำให้คุณแม่มีโอกาสที่จะไม่ได้รับสารอาหาร 2 กลุ่มนี้อย่างครบถ้วน วันนี้เราชวนคุณผู้อ่านมาดูถึงสารอาหารในกลุ่มแร่ธาตุตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า “แมกนีเซียม” ว่าแร่ธาตุตัวนี้นั้นสำคัญกับคุณแม่ที่กำลังมีเจ้าตัวน้อยอย่างไรบ้าง และชวนสังเกตว่าคุณแม่ได้รับสารอาหารตัวนี้ในปริมาณที่เหมาะสมหรือไม่ค่ะ💁♀️
ทำความรู้จักกับแมกนีเซียม
แมกนีเซียมเป็นสารอาหารในกลุ่มแร่ธาตุ ซึ่งมีความสำคัญต่อกระดูกและเนื้อเยื่อในร่างกายมนุษย์ มักทำงานร่วมกับแร่ธาตุอีกชนิดซึ่งก็คือแคลเซียมนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีส่วนในการควบคุมการสร้างและการทำงานของเอนไซม์ในร่างกายเรากว่า 300 ชนิด ควบคุมการสร้างสารพันธุกรรม🧬 การเก็บพลังงานและการเผาผลาญในเซลล์ จะเห็นได้ว่าหน้าที่ที่แร่ธาตุชนิดนี้เข้าไปเกี่ยวข้องนั้นมีหลากหลายมาก ดังนั้นมันจึงไม่ได้จำเป็นแค่กับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์เท่านั้น แต่ยังเป็นแร่ธาตุจำเป็นสำหรับเราทุกคนเลยค่ะ
แมกนีเซียมมีผลต่อคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อย่างไร
ตามที่ได้กล่าวไปในหัวข้อก่อนหน้า ว่าแมกนีเซียมมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกระดูกและเนื้อเยื่อในร่างกายของเรา มันจึงมีส่วนช่วยในการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้ออีกด้วยค่ะ การได้รับแมกนีเซียมในความเข้มข้นและปริมาณที่เหมาะสมนั้นจะทำให้กล้ามเนื้อของคุณแม่ผ่อนคลาย ลดโอกาสในการเกิดตะคริว ทำให้กระดูก🦴และฟัน🦷ของคุณแม่แข็งแรง ลดโอกาสที่จะเกิดอาการปวดศีรษะและไมเกรน🤕 นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการรักษาระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยรักษาอัตราการเต้นของหัวใจให้คงที่อีกด้วยค่ะ
แมกนีเซียมมีผลต่อเจ้าตัวน้อยในครรภ์อย่างไร
จะเห็นได้ว่าแมกนีเซียมนั้นมีบทบาทมากมายและเกี่ยวข้องกับหลายระบบของร่างกายมากในมนุษย์ที่โตเต็มวัย กับร่างกายของทารก👶ก็เช่นกันค่ะ แมกนีเซียมทำให้ระบบต่างๆในร่างกายของเจ้าตัวน้อยดำเนินไปด้วยกันได้อย่างปกติ มีส่วนช่วยในการรักษาสมดุลของระบบไหลเวียนเลือดในร่างกาย และสำคัญมากในช่วงที่ทารกกำลังพัฒนาอวัยวะต่างๆรวมถึงสมอง🧠ในท้องของคุณแม่ ในส่วนของทารกหลังคลอด แมกนีเซียมก็ยังทำให้เจ้าตัวน้อยนอนหลับ😴ได้สบายขึ้นอีกด้วยค่ะ
คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรได้รับแมกนีเซียมเท่าไหร่
🤰สำหรับคุณแม่ที่ยังเป็นวัยรุ่นหรืออายุไม่เกิน 18 ปี ควรได้รับแมกนีเซียมไม่ต่ำกว่า 400 มิลลิกรัมต่อวันค่ะ
🤰สำหรับคุณแม่ที่มีอายุตั้งแต่ช่วง 19-30 ปี ควรได้รับแมกนีเซียมไม่ต่ำกว่า 350 มิลลิกรัมต่อวันค่ะ
🤰สำหรับคุณแม่ที่มีอายุตั้งแต่ 31 ปีขึ้นไป ควรได้รับแมกนีเซียมไม่ต่ำกว่า 360 มิลลิกรัมต่อวันค่ะ
คุณแม่ที่กำลังให้นมบุตรควรได้รับแมกนีเซียมเท่าไหร่
🤱ในช่วงหลังคลอด สำหรับคุณแม่ที่ยังเป็นวัยรุ่นหรืออายุไม่เกิน 18 ปี ควรได้รับแมกนีเซียมไม่ต่ำกว่า 360 มิลลิกรัมต่อวันค่ะ
🤱สำหรับคุณแม่ที่มีอายุตั้งแต่ช่วง 19-30 ปี ควรได้รับแมกนีเซียมไม่ต่ำกว่า 310 มิลลิกรัมต่อวันค่ะ
🤱สำหรับคุณแม่ที่มีอายุตั้งแต่ช่วง 31 ปีขึ้นไป ควรได้รับแมกนีเซียมไม่ต่ำกว่า 320 มิลลิกรัมต่อวันค่ะ
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณแม่ขาดแมกนีเซียม
✨การทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติ
คุณแม่อาจมีความผิดปกติในด้านการทำงานของกล้ามเนื้อ💪 ไม่ว่าจะเป็นอาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง กล้ามเนื้อกระตุก เป็นตะคริวบ่อย🦵 เนื่องจากแมกนีเซียมมีส่วนช่วยควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อนั่นเองค่ะ
✨มีปัญหาในด้านกระดูก
คุณแม่มีโอกาสมีปัญหาในด้านกระดูก🦴 ไม่ว่าจะเป็นปัญหากระดูกพรุน กระดูกเปราะไม่แข็งแรง เนื่องจากแมกนีเซียมทำงานร่วมกับแคลเซียมและช่วยรักษาระดับสมดุลแคลเซียม หากขาดแมกนีเซียมก็จะทำให้ร่างกายของคุณแม่มีปัญหาในเรื่องของปริมาณแคลเซียมด้วยค่ะ
✨มีอาการไมเกรน
มีโอกาสที่จะมีอาการไมเกรน🤕เพิ่มขึ้น นอนหลับพักผ่อนได้ค่อนข้างยาก อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน🤮 อ่อนเพลีย ท้องผูก และขี้หลงขี้ลืมร่วมด้วยค่ะ
✨ภาวะเบื่ออาหาร
คุณแม่มีโอกาสที่จะประสบกับภาวะเบื่ออาหาร😐 อัตรการเต้นของหัวใจผิดปกติ🫀 และระบบภูมิคุ้มกันต่ำหรือบกพร่องค่ะ
จะเห็นแล้วนะคะว่าแมกนีเซียมนั้นมีประโยชน์หลากหลายด้าน ไม่เพียงแต่ประโยชน์ต่อคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หรือคุณแม่หลังคลอด แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ทุกคนด้วยหากได้รับในปริมาณที่เหมาะสม สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ สามารถรับแมกนีเซียมได้จากการรับประทานอาหารต่อไปนี้ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ทะเล🦪 เน้นไปที่เนื้อปลา🍣 นมไขมันต่ำ🥛 และอาหารในกลุ่มพืชผัก ไม่ว่าจะเป็นข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง อัลมอนด์ ถั่วลิสง🥜 เฮเซลนัต กระเจี๊ยบเขียว กล้วย🍌 ในส่วนของอาหารแปรรูปสามารถรับประทานซีเรียลได้ค่ะ หากคุณแม่ไม่มั่นใจว่าได้รับแมกนีเซียมในแต่ละวันเพียงพอหรือไม่ สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาในการรับอาหารเสริมร่วมด้วยได้ค่ะ แต่ไม่ควรหามารับประทานเองโดยปราศจากการดูแลของแพทย์นะคะ