post-title

ศีรษะเด็กแรกเกิดมีแผล อันตรายไหม?

     หากคุณผู้อ่านลองจินตนาการว่าภายหลังการคลอดที่ผ่านไปได้ด้วยดี เจ้าตัวน้อยที่พึ่งออกมาลืมตาดูโลกอยู่ๆก็เกิดแผลบนศีรษะ🤕ขึ้นมา หากเกิดอะไรแบบนี้ขึ้นก็คงนับเป็นเรื่องน่าตกใจไม่น้อยเลยใช่ไหมคะ แต่แผลบนศีรษะนั้นเกิดจากอะไรกันแน่ เป็นความผิดพลาดของแพทย์ระหว่างการทำคลอดหรือไม่ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นปกติสำหรับทารกแรกเกิดหรือเปล่า และที่สำคัญที่สุดคือแผลแบบนี้เป็นอันตรายต่อตัวเด็กเองหรือไม่ เราไปหาคำตอบเหล่านี้พร้อมกันเลยค่ะ💁‍♀️


แผลบนศีรษะของทารกแรกเกิดคืออะไร

สำหรับแผลบนศีรษะนั้น นับเป็นความผิดปกติทางด้านผิวหนังประเภทหนึ่งในทารกแรกเกิด มีชื่อทางการแพทย์ว่า Aplasia cutis ซึ่งพบได้ไม่บ่อยมากนัก เป็นภาวะที่บริเวณนั้นๆของทารก(ในที่นี้คือผิวบริเวณศีรษะ)ไม่มีผิวปกคลุมตั้งแต่เกิด ในบางกรณีสามารถเกิดร่วมกับโรคผิวหนังชนิดอื่นได้และอาจทำให้เกิดแผลเป็นหลังหายจากอาการดังกล่าว และไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพียงบริเวณศีรษะของทารก🤕เท่านั้น เพียงแต่ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นบนศีรษะ โรคนี้สามารถเกิดกับทารกทุกเชื้อชาติและทุกเพศ👦👧เลยค่ะ

ลักษณะอาการของโรคที่สังเกตได้อย่างชัดเจน

แผลที่สังเกตได้มักมีขนาดประมาณ 0.5 เซนติเมตรจนไปถึง 10 เซนติเมตร

ขอบเขตของแผลไม่มีอาการอักเสบร่วมด้วย และมีขอบเขตของแผลที่ชัดเจน

เป็นแผลที่มักเกี่ยวข้องกับผิวหนังชั้นนอกเท่านั้น ในบางกรณีแผลมีโอกาสหายตั้งแต่ก่อนคลอด จะเหลือไว้เพียงรอยแผลเป็นบนศีรษะของทารก

มีรายงานพบว่าทารกที่เป็นโรคนี้ มีบางกรณีที่เกิดมาพร้อมกับโรคหัวใจพิการ🫀ตั้งแต่กำเนิด หรือความผิดปกติในระบบอวัยวะภายใน ไม่ว่าจะเป็นระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ และระบบประสาทส่วนกลาง🧠

สาเหตุของโรคคืออะไร

1️⃣อาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม🧬หรือเป็นโรคทางกรรมพันธุ์นั่นเอง ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานจากข้อสังเกตก่อนหน้า คือโรคผิวหนังชนิดนี้มักมาพร้อมกับโรคแทรกซ้อนอื่นๆในทารกตั้งแต่กำเนิด

2️⃣อาจเกิดจากการที่คุณแม่ได้รับเชื้อก่อโรค🦠และติดเชื้อตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นเชื้ออีสุกอีใส หรือเชื้อเริม

3️⃣อาจเกิดจากการที่คุณแม่ได้รับสารเคมีบางอย่างที่ทำหน้าที่เป็นสารก่อมะเร็งได้ รวมไปถึงสารเสพติดหลายๆประเภท ไม่ว่าจะเป็นโคเคนหรือกัญชา🚬

4️⃣อาจเกิดจากการพัฒนาที่ผิดปกติของผิวหนังทารกเองอย่างระบุสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้


แนวทางการรักษา

การผ่าตัดรักษา

อันที่จริงแล้วภาวะดังกล่าวสามารถหายได้เองหลังคลอด👩‍🍼 เพียงแต่ในบางกรณีอาจมีการทิ้งร่องรอยไว้ในรูปแบบของรอยแผลเป็น🤕 ซึ่งทำให้บริเวณที่เกิดแผลนั้นไม่มีขนหรือผมเกิดขึ้น แต่ในบางกรณีภาวะนี้ก็มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เช่นทารกอาจติดเชื้อก่อโรคในช่วงเวลาที่ผิวหนังยังไม่สมานกันบริเวณที่เป็นโรค ซึ่งต้องการการทำความสะอาดที่มากเป็นพิเศษ และอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะ💊ที่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญร่วมด้วย ในบางรายหากเกิดรอยแผลขึ้นหลายจุด แพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัดรักษาเพื่อซ่อมแซมและตกแต่งเพิ่มเติม หรืออาจถึงขั้นต้องปลูกถ่ายผิวหนังเลยทีเดียว

     อ่านมาถึงตรงนี้คุณผู้อ่านก็จะได้รู้จักกับโรคหรือภาวะที่พบได้ค่อนข้างยากแต่ก็ไม่ใช่จะพบไม่ได้อย่าง Aplasia cutis🤕 กันไปเรียบร้อยแล้วนะคะ หากพบว่าลูกน้อยของท่านมีอาการนี้ หรือมีรอยแผลที่บ่งบอกว่าอาจเข้าข่ายว่าเคยเป็นโรคนี้ เพื่อความมั่นใจ คุณผู้อ่านสามารถพาเจ้าตัวน้อยเข้ารับการวินิจฉันจากแพทย์👨‍⚕️เพิ่มเติมได้ค่ะ เพราะตามที่ได้กล่าวไปก่อนหน้าว่าโรคนี้มีโอกาสพร้อมจะมาควบคู่กับโรคผิวหนังชนิดอื่นหรือโรคแทรกซ้อนในกลุ่มอื่นๆ หากได้รับการตรวจร่างกาย ก็จะเป็นการเพิ่มความมั่นใจในการดูแลเจ้าตัวน้อยในอนาคตค่ะ