post-title

น้ำตาไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอไป

     “น้ำตา” 😢นับเป็นผลผลิตจากหลากหลายอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ในเชิงบวก เช่น มีความสุข อิ่มเอมใจ ปลื้มปิติดีใจ จนไปถึงอารมณ์ในเชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธ กังวล เครียด โศกเศร้า ผิดหวัง เสียใจ ตกใจกลัว แต่บางทีน้ำตาก็อาจไม่ได้มาจากปัจจัยทางด้านอารมณ์เช่นเดียวกัน วันนี้บทความของเราจะพาคุณผู้อ่านมาทำความรู้จักกับการหลั่งน้ำตาในเจ้าตัวน้อยให้มากขึ้นกันค่ะ


หน้าที่ของน้ำตาและการร้องไห้

หากตัดเรื่องการเป็นเครื่องมือแสดงอารมณ์ของมนุษย์ออกไป อันที่จริงแล้วหน้าที่หลักของน้ำตาก็คือการเป็นของเหลวที่คอยหล่อเลี้ยงดวงตา👁️ ไม่ให้ดวงตาแห้ง และยังช่วยเป็นเกราะป้องกันชั้นบางๆไม่ให้ฝุ่นหรือสิ่งแปลกปลอมในอากาศเข้ามาสัมผัสกับเนื้อลูกตาได้โดยตรงค่ะ น้ำตาจะช่วยกำจัดอนุภาคต่างๆที่ลอยอยู่ในอากาศและลอยเข้าสู่ลูกตาโดยบังเอิญ น้ำตาชนิดนี้อาจมีเซลล์ที่เป็นสมาชิกของระบบภูมิต้านทานในร่างกายเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย เพื่อกำจัดเชื้อก่อโรค🦠ในเบื้องต้นค่ะ และอย่างที่เราทราบกันดีว่าน้ำตาเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้ในการแสดงอารมณ์ทั้งเชิงบวกและเชิงลบตามที่กล่าวไปก่อนหน้า น้ำตาประเภทนี้ก็จะมีองค์ประกอบไม่เหมือนกับน้ำตาที่ไม่ได้มาจากการแสดงอารมณ์ค่ะ ในกรณีของเด็กเล็ก หลังร้องไห้แล้วเด็กจะหลับง่ายขึ้น😴 หลับสบายขึ้นค่ะ เพราะการร้องไห้ก็เป็นอีกกลไกหนึ่งในการระบายความเครียดของเด็ก


การปลูกฝังให้ลูกสามารถร้องไห้ได้

วิธีที่ 1️⃣

เมื่อเด็กมีอาการร้องไห้งอแง😭 คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีการพูดคุยเพื่อสะท้อนอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ของเด็ก ให้เจ้าตัวน้อยได้มีโอกาสสัมผัสเข้าไปในจิตใจตนเองว่าที่ร้องไห้อยู่ตอนนี้เพราะกำลังรู้สึกอะไร และสาเหตุอะไรทำให้เกิดความรู้สึกนั้น การกระทำเช่นนี้เป็นการปลูกฝังกับเด็กว่าเราสามารถแสดงออกทางอารมณ์ไปพร้อมกับรู้เท่าทันถึงอารมณ์ตนเอง และสาเหตุที่ทำให้เกิดอารมณ์นั้น ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านการจัดการอารมณ์มากขึ้นค่ะ

วิธีที่ 2️⃣

นอกจากจะพูดคุยอภิปรายถึงอารมณ์ของเจ้าตัวน้อยแล้ว ผู้ปกครองก็ควรสื่อสารถึงอารมณ์ของตนเองเหมือนกัน เพื่อให้เด็กทำความเข้าใจว่าเราทุกคนสามารถมีอารมณ์ในเชิงลบได้เป็นเรื่องปกติ และเมื่อมีอารมณ์เหล่านี้ คนมักจะแสดงออกออกมาอย่างไร การพูดคุยประเด็นนี้จะทำให้เด็กสามารถรับรู้ความรู้สึกและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น💞ได้มากขึ้น เพิ่มพัฒนาการทางด้านการเข้าสังคมของเด็กได้อีกด้วย

วิธีที่ 3️⃣

การทำแบบฟอร์มติดตามอารมณ์หรือ Mood tracker ซึ่งจะมาในรูปแบบแผนภาพการ์ตูนให้เหมาะกับวัยของเด็กก็ได้ เด็กจะสามารถบันทึกอารมณ์ของตนเองในแต่ละช่วงเวลาของวันได้ เด็กจะมองเห็นภาพรวมและเข้าใจได้ว่าในแต่ละวันเราสามารถมีหลากหลายอารมณ์ได้เป็นปกติ ทำให้เด็กอนุญาตให้ตัวเองมีความรู้สึก กล้าที่จะแสดงความรู้สึก อย่างเช่นกล้าที่จะระบายความรู้สึกไม่ดีด้วยการร้องไห้🥹ออกมา ไม่เก็บอารมณ์ที่ไม่ดีไว้กับตนเองจนอึดอัดและเกิดอาการเหนื่อยล้า

ทำอย่างไรเมื่อลูกร้องไห้

ไม่มองข้ามอารมณ์ความรู้สึกของเด็กเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ควรมีประโยคประเภท “ร้องไห้ทำไมเรื่องแค่นี้เอง” 

“หยุดร้องไห้เดี๋ยวนี้นะ” ออกมา เพราะจะทำให้เด็กตั้งกำแพงต่อคุณพ่อคุณแม่ทันที

✨ปลอบโยนด้วยความเข้าใจและจริงใจแทน🫂 อาจใช้ประโยคในรูปแบบที่แสดงถึงความเข้าใจ และแสดงให้เด็กๆรับรู้ว่า ถ้าสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นกับตัวคุณพ่อคุณแม่เอง ตัวเราเองก็คงรู้สึกแย่เหมือนกัน เพื่อเป็นการอนุญาตให้เด็กสามารถแสดงอารมณ์ออกมาได้อย่างเต็มที่ ไม่ตั้งกำแพงกับผู้ปกครองค่ะ

ใช้ประโยคแสดงการให้กำลังใจเข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้ปกครองพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างเด็ก👨‍👩‍👧 และพร้อมที่จะแก้ปัญหาไปพร้อมกับเด็กๆเสมอ เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา

     จะเห็นแล้วนะคะว่าการร้องไห้นั้นไม่ใช่เรื่องแย่เลย เพราะมันก็เป็นเพียงกลไกหนึ่งตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกคน เพื่อใช้ระบายอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างสุดขีดในจิตใจ ดังนั้นผู้ปกครองควรปลูกฝังว่าทุกคนสามารถร้องไห้ได้ ไม่ว่าจจะเป็นเพศใด ทำอาชีพอะไร มีฐานะ หน้าที่ และบทบาททางสังคมแบบไหนก็ตาม