การเอกซเรย์🩻นั้นถือเป็นหนึ่งในเทคนิคทางการแพทย์ที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยและรักษา แต่คุณผู้อ่านหลายๆท่านอาจเคยได้ยินมาว่า การเอกซเรย์นั้นอาจส่งผลเสียแก่ผู้ได้รับการเอกซเรย์ได้ และในคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์🤰นั้นก็ไม่ควรทำเอกซเรย์ แต่สิ่งเหล่านี้จะเป็นจริงหรือไม่ เราไปทำความรู้จักและความเข้าใจต่อการเอกซเรย์ให้มากขึ้นกันเลยค่ะ💁♀️
เอกซเรย์คืออะไร?
เอกซเรย์หรือ X-ray🩻 ตามชื่อแล้วคือการใช้ประโยชน์ด้านหนึ่งของคลื่นที่เรียกว่ารังสีเอ็กซ์ ประโยชน์ด้านนั้นก็คือการถ่ายภาพทางการแพทย์นั่นเองค่ะ หากเทียบกับการถ่ายภาพแบบปกติแล้ว หากเราใช้กล้องถ่ายรูปธรรมดา📸ในการถ่ายภาพ ภาพที่ออกมาก็จะเป็นภาพที่แสดงถึงลักษณะภายนอกของร่างกาย🧍♀️ แต่หากเราใช้รังสีเอ็กซ์ในการถ่ายภาพ เราจะสามารถเห็นโครงสร้างภายในของร่างกายมนุษย์ได้ในระดับหนึ่ง นั่นจึงเป็นประโยชน์ที่รังสีเอ็กซ์จะช่วยอำนวยความสะดวกของแพทย์ในการวินิจฉัยโรค🩺ได้ค่ะ
ทำไมคุณแม่ไม่ควรเอกซเรย์
ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ เมื่อรังสีเอ็กซ์ (รวมถึงรังสีชนิดอื่นในความเข้มข้นสูงๆ) ผ่านร่างกายของเรา มีโอกาสที่มันจะทำให้สารพันธุกรรม🧬ของเราเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งก่อให้เซลล์ในร่างกายเราผิดปกติ อาจนำไปสู่มะเร็งหรือโรคอื่นๆได้ แม้จะเป็นโอกาสที่น้อยมากแต่ก็ยังถือเป็นความเสี่ยงค่ะ🙅♀️ ในการเอกซเรย์คนทั่วไปที่ไม่ใช่คุณแม่ที่ตั้งครรภ์นั้น จะมีการกำหนดค่าความเข้มข้นของรังสีต่อการทำเอกซเรย์หนึ่งครั้ง คนที่มีอายุ ช่วงวัย และขนาดร่างกายต่างกันก็จะใช้ปริมาณหรือความเข้มข้นของรังสีต่างกัน การถ่ายภาพแต่ละอวัยวะในร่างกายก็ต้องใช้ความเข้มข้นของรังสีไม่เท่ากัน การทำเอกซเรย์ที่ปลอดภัยจึงต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์และเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิค🧑🔬ในโรงพยาบาล เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อร่างกายผู้ป่วยน้อยที่สุด แต่สำหรับคุณแม่ที่กำลังมีเจ้าตัวน้อย👶อยู่ในครรภ์นั้น การควบคุมปริมาณรังสีจะเป็นไปได้ยาก และเด็กทารกก็มีความเปราะบางต่อรังสีมากกว่าคนวัยที่โตขึ้นมา การเอกซเรย์จึงไม่เป็นที่แนะนำในคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์🤰ค่ะ
ความเสี่ยงหากคุณแม่ได้รับรังสีในปริมาณต่างๆ
1️⃣หากคุณแม่ได้รับรังสีที่ปริมาณมากหรือความเข้มข้นสูง
ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์คุณแม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแท้ง🩸ได้ค่ะ หรือหากไม่แท้งก็มีความเสี่ยงที่เด็กในท้องจะพิการ มีการพัฒนาร่างกายที่ผิดปกติ ประสบกับภาวะทารกโตช้าในครรภ์ จนไปถึงความบกพร่องทางด้านสติปัญญา🧠
2️⃣หากคุณแม่ได้รับรังสีในปริมาณหรือความเข้มข้นที่ต่ำ
เช่น การเข้าเครื่องสแกนที่สนามบิน🛩️ หรืออวัยวะที่ได้รับรังสีนั้นอยู่ไหลจากบริเวณท้อง ผ่านการพิจารณาของแพทย์และนักรังสีเทคนิคมาแล้ว ก็แทบไม่มีผลกระทบอะไรต่อร่างกายของคุณแม่รวมไปถึงเจ้าตัวน้อยด้วยค่ะ
หากคุณผู้อ่านได้อ่านบทความของเรามาถึงตรงนี้ ก็คงจะพอไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการทำเอกซเรย์ในคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ในระดับหนึ่งแล้วนะคะ ว่าจริงๆแล้วไม่เป็นที่แนะนำหากไม่จำเป็น แต่ถ้าเป็นสิ่งจำเป็น ผ่านการพิจารณาความเหมาะสมของปริมาณหรือความเข้มข้นของรังสีที่ใช้จากแพทย์และนักรังสีเทคนิค🧑🔬มาเรียบร้อยแล้ว คุณแม่ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นกังวลไปค่ะ เพราะทางโรงพยาบาล🏥ก็จะพยายามสุดความสามารถในการทำให้เจ้าตัวน้อยในครรภ์ได้รับรังสีอย่างน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการยิงรังสีแบบหลีกเลี่ยงบริเวณท้อง จนไปถึงการใช้เครื่องมือหรือชุดตะกั่วในการบดบังรังสีบริเวณท้องของคุณแม่ค่ะ