“โฮมสคูล” 🏡 หรือการศึกษาที่บ้านนั้นนับเป็นการศึกษารูปแบบที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากในยุคปัจจุบัน เนื่องจากความเจริญของเทคโนโลยีที่ช่วยให้เราสามารถหาความรู้ได้ด้วยตนเองอย่างสะดวกสบาย📱 ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็สามารถให้ความรู้ลูกเองได้ง่ายขึ้น หรือการจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านต่างมาสอนเด็กก็เป็นไปได้ง่ายขึ้น แต่การทำโฮมสคูลนั้นจะมีผลต่อพัฒนาการของเด็กหรือไม่ มีผลต่อวุฒิการศึกษาหากต้องศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้นในอนาคตหรือไม่ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร เราไปทำความรู้จักการศึกษาในรูปแบบนี้เพิ่มขึ้นกันเลยค่ะ💁♀️
รู้จักโฮมสคูลเบื้องต้น
อันที่จริงแล้วการทำโฮมสคูลนั้นค่อนข้างเป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นสูงมาก และสามารถใช้การศึกษารูปแบบนี้ได้ตั้งแต่เด็กเล็ก👶จนไปถึงเด็กมัธยมศึกษาตอนปลาย👦เลยทีเดียว ซึ่งนับว่าเป็นช่วงอายุของเด็กที่กว้างมาก เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจเราจึงแบ่งการศึกษารูปแบบโฮมสคูลออกเป็น 2 หมวดหมู่หลักๆ ดังต่อไปนี้ค่ะ
2 หมวดหมู่หลักของการศึกษารูปแบบโฮมสคูล
1️⃣การทำโฮมสคูลแบบไม่ต้องการวุฒิการศึกษา❎
สำหรับโฮมสคูลในรูปแบบนี้ผู้ปกครองสามารถวางแผนหลักสูตรการเรียน เนื้อหา📖ที่ต้องการให้เจ้าตัวน้อยเรียน และตารางเรียนได้ด้วยตนเอง ไม่มีข้อจำกัดอะไรค่ะ มักใช้กับเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 7 ขวบซึ่งเป็นเกณฑ์เข้าโรงเรียนค่ะ
2️⃣การทำโฮมสคูลแบบต้องการวุฒิการศึกษา🎓
เนื่องจากเป็นการเรียนการสอนที่จัดเองจากทางบ้าน แต่ต้องการวุฒิการศึกษาที่เป็นเครื่องยืนยันว่าเด็กได้รับความรู้ตามหลักสูตรการสอนและจุดประสงค์การเรียนรู้เหมือนกับเด็กที่เรียนในโรงเรียนรูปแบบปกติ🏫 จึงต้องมีการวางหลักสูตรและรายละเอียดการสอนและสอบตามส่วนกลาง📜 และการทำเอกสารเพิ่มเติม สำหรับรายละเอียดนั้นจะถูกกล่าวถึงในหัวข้อใหญ่ต่อไป เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะค่ะ
การทำโฮมสคูลแบบต้องการวุฒิการศึกษา
👉ต้องยื่นขอจดทะเบียนกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งก็จะแบ่งตามระดับการศึกษาของเด็กที่จะได้รับการศึกษาแบบโฮมสคูลค่ะ สำหรับเด็กประถมให้ยื่นขออนุญาตไปที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา สำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นให้ยื่นไปที่สำนักงานเขตการศึกษามัธยมศึกษา🏫 แต่หากเป็นการทำโฮมสคูลอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เด็กอยู่ชั้นประถมแล้วก็สามารถยื่นได้ทั้งสองที่เลยค่ะ และสำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สามารถยื่นขออนุญาตไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาได้เช่นเดียวกันค่ะ
👉อาจเรียนด้วยการศึกษาหลักสูตรทางเลือก เช่น การศึกษานอกระบบ (กศน.) หรือการศึกษาตามอัธยาศัยนั่นเองค่ะ
👉ผู้ปกครอง👫อาจจัดการเรียนการสอนร่วมกับโรงเรียนที่มีการเปิดรับนักเรียนโฮมสคูลได้ค่ะ
👉ผู้ปกครองสามารถให้เด็กเรียนกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านระบบดาวเทียม📡ได้ค่ะ
👉หากผู้ปกครองต้องการวุฒิต่างประเทศจะต้องทำการสอบเทียบวุฒิเพิ่มเติมค่ะ ยกตัวอย่างวุฒิที่ค่อนข้างเป็นที่นิยม ได้แก่ GED 🎓ที่มีชื่อเต็มคือ General Education Development การสอบ IGCSE และการสอบ A-Level ค่ะ
ข้อดีของการทำโฮมสคูล
ข้อที่ 1️⃣
ผู้ปกครองสามารถกำหนดได้ว่าอยากให้ลูกเน้นความรู้ด้านไหนเป็นพิเศษ📚 สามารถช่วยเลือกได้ว่าเนื้อหาแบบไหนเหมาะกับลูก และตัดทอนเนื้อหาที่ไม่จำเป็นออกได้ ไม่จำเป็นต้องเรียนในสิ่งที่ไม่มีแนวโน้มจะได้ใช้ประโยชน์ในอนาคต
ข้อที่ 2️⃣
ผู้ปกครองสามารถวางแผนตาราง📑หรือเวลาเรียนให้เด็กได้ พูดง่ายๆก็คือมีความยืดหยุ่นด้านเวลามากกว่าการเรียนในโรงเรียน อีกทั้งเด็กยังสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา เพราะเวลาเรียนไม่ได้ขึ้นอยู่กับช่วงเปิดเทอมหรือปิดเทอมค่ะ ซึ่งก็จะทำให้เกิดข้อดีอีกข้อ คือเด็กสามารถเรียนจบหลักสูตรได้เร็วกว่าเด็กที่เรียนตามโรงเรียนปกติค่ะ
ข้อที่ 3️⃣
ผู้ปกครองสามารถดูแลการเรียนของลูกได้อย่างใกล้ชิด🤗 นอกจากจะเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กแล้ว ยังทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแน่นแฟ้น👨👩👧ขึ้นด้วยค่ะ
ข้อเสียของการทำโฮมสคูล
ข้อที่ 1️⃣
เนื่องจากผู้ปกครองสามารถวางแผนการศึกษาของเด็กเองได้ ผู้ปกครองจึงมีความจำเป็นต้องติดตามข่าวทางด้านการศึกษาอยู่เสมอ เพื่อใช้จัดการเรียนการสอน👩🏫ของลูกให้ทันต่อยุคสมัยและเด็กๆที่เรียนตามโรงเรียนปกติค่ะ
ข้อที่ 2️⃣
หากผู้ปกครองมีอิสระให้เด็กมากเกินไปก็จะเป็นการเรียนแบบไร้ทิศทาง ขาดประสิทธิภาพในการสอน แต่หากผู้ปกครองเคร่งเครียดเกินไปก็จะทำให้ลูกเกิดความเครียด🤯ได้ง่าย และอาจไม่ค่อยรับฟังหากคุณพ่อคุณแม่เป็นคนสอนเองค่ะ
ข้อที่ 3️⃣
เด็กอาจขาดทักษะการเข้าสังคม👯♀️ หรือมีทักษะการเข้าสังคมต่ำกว่าเด็กที่เรียนตามโรงเรียนปกติ เนื่องจากไม่ได้พบเจอใครเลยนอกจากคุณพ่อคุณแม่ หรือครูอาจารย์ที่ผู้ปกครองจ้างมาสอนค่ะ
จะเห็นแล้วนะคะว่าโฮมสคูลเองก็มีความคล้ายคลึงกับการศึกษาในรูปแบบอื่นๆ ที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จะเลือกตัดสินใจให้เจ้าตัวน้อย👶เข้ารับการศึกษาแบบใดก็อาจจะต้องพิจารณาถึงประเด็นต่างๆอย่างถี่ถ้วน ดูตามความเหมาะสมของตัวเด็กเองรวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่บ้านค่ะ