post-title

เมื่อลูกถูกบูลลี่ที่โรงเรียน

     การบูลลี่🤪หรือการกลั่นแกล้งในโรงเรียนนั้นถือเป็นสิ่งที่แทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย สำหรับเจ้าตัวน้อย👦ที่เข้าเรียนในระบบการศึกษาปกติ ซึ่งก็คือการเรียนที่โรงเรียน ไม่ใช่การเรียนที่บ้านหรือการทำโฮมสคูล แล้วเราในฐานะผู้ปกครองซึ่งเป็นผู้ใหญ่กว่าจะมีส่วนช่วยให้เด็กๆสามารถผ่านเรื่องราวเหล่านี้ไปด้วยความเหมาะสมอย่างไรได้บ้าง บทความนี้มีไอเดียที่เป็นประโยชน์มาเสนอคุณผู้อ่านค่ะ💁‍♀️


รู้จักกับความหมายของการบูลลี่ให้มากขึ้น

การ “บูลลี่” นั้นทับศัพท์มาจากคำภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Bully หมายถึงพฤติกรรมใดก็ตามที่มีเจตนากลั่นแกล้ง😜 รังแก ทั้งทางคำพูด🗣️และการกระทำทางด้านร่างกายจากผู้ที่มีอำนาจมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในเชิงวัยวุฒิ ฐานะทางสังคม และทำให้ผู้ถูกกระทำหรือได้รับการกระทำนั้นรู้สึกแย่ต่อตนเอง เสียความมั่นคงทางจิตใจ เสียสุขภาพจิต สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกความสัมพันธ์ ทั้งคนนอกและคนในครอบครัว👨‍👩‍👧 การกลั่นแกล้งทางโซเชียลมีเดีย📱(Cyberbully) ก็นับเป็นหนึ่งรูปแบบย่อยๆของการบูลลี่เช่นเดียวกันค่ะ

สัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกอาจกำลังถูกบูลลี่

👉เด็กมีแนวโน้มเก็บตัว ปฏิเสธการเข้าสังคม ทำตัวเงียบขรึม😶ไม่สมกับช่วงวัย

👉เด็กมีอารมณ์แปรปรวนไม่มั่นคง มักเป็นอารมณ์ทางด้านลบ ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า😢 ความเครียด🤯 ขี้หงุดหงิด เซื่องซึม

👉เด็กไม่ค่อยเล่าเรื่องที่โรงเรียนให้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพื่อนๆ สังคมรอบตัว รวมไปถึงกิจกรรมที่ได้ทำในโรงเรียน🏫

👉เด็กๆบางคนมีอาการป่วยทางด้านร่างกายประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดท้อง วิงเวียนศีรษะ🤕 เบื่ออาหาร อาเจียน🤮 ฝันร้ายจนปัสสาวะรดที่นอนบ่อยๆ

👉มีร่องรอยบาดแผลจนไปถึงรอยฟกช้ำ ที่สามารถคาดเดาได้ว่ามาจากการโดนทำร้าย🤕


วิธีรับมือหากลูกโดนบูลลี่

วิธีที่ 1️⃣

เริ่มจากการที่ผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจกับการบูลลี่🤪อย่างลึกซึ้งก่อน คำว่าลึกซึ้งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความหมายของคำว่าว่าบูลลี่เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการทำความเข้าใจว่าภูมิหลังของผู้ที่เป็นคนกระทำหรือคนบูลลี่นั้นเป็นอย่างไร สาเหตุใดที่หล่อหลอมมาให้เขาทำแบบนี้ นั่นคือปัญหาที่แท้จริงของการบูลลี่ค่ะ การทำความเข้าใจคู่กรณีจะช่วยให้เราเข้าใจในการกระทำของเขาอย่างมีเหตุผลมากขึ้น เป็นประโยชน์ในการคิดแก้ปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้เขาหยุดการกลั่นแกล้ง น้อยที่สุดคือต้องหลีกเลี่ยงและรับมือการกระทำของเขาได้อย่างเหมาะสมค่ะ

วิธีที่ 2️⃣

ปลูกฝังให้ลูกปฏิเสธความไม่ถูกต้องและไม่เพิกเฉย🙅‍♀️ พูดง่ายๆก็คือแสดงความไม่พอใจหรือไม่ยอมจำนนต่อการกระทำดังกล่าวนั่นเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ลูกทำเช่นนั้นคืนหรือใช้กำลังในการแก้ปัญหาค่ะ เพียงแต่การแสดงความไม่พอใจจะทำให้ผู้กระทำรู้ว่าผู้ถูกกระทำไม่ยอมจำนนกับการกระทำเช่นนี้ ซึ่งมีโอกาสทำให้ถูกกลั่นแกล้งลดลงได้ในอนาคต แต่หากผู้กระทำไม่ได้ลดละพฤติกรรมดังกล่าวลง ก็จะนำไปสู่ข้อถัดไปค่ะ

วิธีที่ 3️⃣

ปลูกฝังให้ลูกกล้าสื่อสาร🗣️ หากพูดง่ายๆคือทำให้ผู้ปกครองรวมไปถึงสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆเป็นพื้นที่ปลอดภัยมากพอ ที่ลูกจะกล้ามาเล่าเรื่องทุกเรื่องทั้งดีและไม่ดีให้ฟังนั่นเองค่ะ รวมไปถึงการกล้าบอกครูที่รับผิดชอบหรือครูประจำชั้น👩‍🏫ด้วยค่ะ เพราะด้วยวัยวุฒิและบทบาททางสังคม ทั้งครูประจำชั้นและผู้ปกครองนั้นมีอำนาจเชิงสังคมมากกว่าเด็ก ซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหาได้มากกว่าปล่อยให้เด็กๆแก้ปัญหากันเองอยู่แล้วค่ะ

วิธีที่ 4️⃣

ดูแลสุขภาพจิตของลูก ผู้ปกครองควรปลูกฝังให้ลูกมีความมั่นใจในตนเอง ไม่ให้คล้อยตามประเด็นที่ผู้กลั่นแกล้งยกขึ้นมาพูด ไม่มองว่าตนเองเป็นปัญหาหากการกระทำของเราไม่ใช่ปัญหาจริงๆ อาจมีการสอนวิธีจัดการอารมณ์ที่ไม่ดีและความเครียด😩หลังการถูกกลั่นแแกล้งให้แก่ลูกเพิ่มเติม เพื่อให้เจ้าตัวน้อยมีพัฒนาการทางด้านอารมรณ์ที่เพิ่มขึ้นค่ะ

วิธีที่ 5️⃣

คุยกับครูประจำชั้น👩‍🏫อย่างจริงจัง เป็นการนัดคุยแบบเห็นหน้ากันเพื่อเป็นการแจ้งว่ามีปัญหานี้เกิดขึ้นในห้องเรียน เป็นการส่งต่อประเด็นปัญหาให้ครูประจำชั้นได้ทำหน้าที่ของตนเองต่อไปค่ะ แต่หากครูประจำชั้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้ อาจต้องเชิญคู่กรณีและผู้ปกครองของคู่กรณีเข้ามาพูดคุยเพื่อแจ้งพฤติกรรมของบุตรหลานตนเองค่ะ

     แม้การสอนให้เหยื่อจากการถูกกลั่นแกล้งหรือบูลลี่เป็นฝ่ายรับมือและจัดการอารมณ์หลังถูกกลั่นแกล้งด้วยตนเองจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และค่อนข้างเป็นการโยนภาระให้เหยื่อ แต่เราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าประเด็นการกลั่นแกล้งนี้จะยังคงเกิดขึ้นเรื่อยๆ เพราะสังคมบนโลกไม่ใช่สังคมอุดมคติอย่างสมบูรณ์ เราจึงควรรู้เท่าทันการบูลลี่และรู้ว่าจะสอนเจ้าตัวน้อย👦อย่างไรให้สามารถผ่านมันไปได้อย่างเหมาะสมค่ะ