post-title

สารพิษที่ควรเก็บให้พ้นมือลูก

     เด็กเล็ก👶ถือเป็นวัยที่กำลังซุกซน ต้องการสำรวจสิ่งรอบตัวอยู่เสมอ การสำรวจสิ่งต่างๆรอบตัวนั้นมีประโยชน์ในแง่ของการส่งเสริมพัฒนาการในเด็กแน่นอน แต่หากสำรวจในสิ่งที่เป็นอันตราย☢️โดยที่ไม่รู้ตัวก็จะก่อให้เกิดโทษเช่นเดียวกัน วันนี้บทความของเราพาคุณผู้อ่านมาดูถึงสิ่งของอันตรายหมวดหนึ่ง ซึ่งก็คือสารเคมีที่พบได้ง่ายในบ้านของเรา ซึ่งเป็นกลุ่มสารที่ควรเก็บให้พ้นมือเด็ก จะมีอะไรบ้างนั้นเราไปดูพร้อมกันเลยค่ะ💁‍♀️


สารที่ใช้ทำความสะอาด

กลุ่มที่ใช้กับร่างกายโดยตรง 

ยกตัวอย่างเช่น สบู่🧼 ยาสระผม โฟมล้างหน้า เป็นกลุ่มที่สามารถใช้ภายนอกได้แต่ไม่ควรรับเข้ามาภายในร่างกาย หากจะเก็บสิ่งเหล่านี้ให้พ้นมือเด็ก🖐️👶นั้นก็คงไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่นัก เพราะเจ้าตัวน้อยเองก็ต้องใช้สิ่งเหล่านี้เป็นประจำเช่นเดียวกัน ดังนั้นควรสอนว่าสิ่งเหล่านี้สามารถใช้ภายนอกได้เท่านั้น ห้ามนำเข้าปาก👄 แต่สำหรับน้ำยาย้อมผมหรือน้ำยาทาเล็บ💅ที่ไม่ใช่สิ่งที่เด็กๆจะได้ใช้บ่อยๆอยู่แล้ว ของเหล่านี้ก็ควรเก็บให้พ้นมือเด็กค่ะ เพราะนอกจากจะใช้ภายในร่างกายไม่ได้แล้ว ก็ต้องระมัดระวังในการใช้ภายนอกเช่นเดียวกัน เพราะเป็นสารที่ก่อความระคายเคืองต่อผิวได้ค่ะ

กลุ่มที่ไม่ได้ใช้กับร่างกาย 

ไม่ว่าจะเป็นน้ำยาล้างสุขภัณฑ์ห้องน้ำ น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า🧴 ปรับผ้านุ่ม น้ำยาเช็ดกระจก เป็นกลุ่มที่ก่อความระคายเคืองต่อผิวหนังได้ นอกจากนี้ยังอาจมีไอระเหยซึ่งก่อให้เกิดความระคายเคืองเมื่อสูดดม👃อีกด้วย ส่งผลเสียต่อระบบผิวหนังและระบบหายใจ🤧โดยตรง กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เจ้าตัวน้อยจะไม่ได้ใช้งานอยู่แล้ว ดังนั้นการเก็บในที่ที่เข้าถึงได้ยากสำหรับเด็กก็จะเป็นวิธีการป้องกันความเสี่ยงที่ดีค่ะ

สารที่เป็นสารพิษโดยตรง

    สารในกลุ่มนี้ยกตัวอย่างเช่นยาฆ่าแมลงทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นแบบสเปรย์ เป็นแบบขวดหยด จนไปถึงเป็นชิ้นที่จับต้องได้อย่างลูกเหม็นและชอล์คกำจัดแมลง🪳 สารกลุ่มนี้เป็นสารที่เด็กๆจะไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกัน ดังนั้นก็ควรเก็บในที่มิดชิด ทำให้เด็กๆเข้าถึงยาก เพื่อป้องกันอันตราย☠️ต่อการที่เด็กๆจะรับเข้าร่างกายค่ะ

สารในกลุ่มยา

    ยา💊ในที่นี้คือยาที่ผู้ปกครองมีในครัวเรือน จะเป็นยาสามัญประจำบ้านหรือยาเฉพาะโรคของคุณพ่อคุณแม่หรือสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัวก็ได้ นับรวมทั้งยาที่ใช้ภายนอกและภายใน และยังนับรวมถึงขวดอาหารเสริมด้วย ขึ้นชื่อว่ายาก็ต้องมีข้อบังคับและข้อแนะนำในการใช้งาน การจะใช้แต่ละครั้งคุณพ่อคุณแม่หรือสมาชิกครอบครัวอื่นๆที่เป็นผู้ใหญ่ก็ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว เจ้าตัวน้อยจึงไม่มีโอกาสได้ใช้ยาเหล่านี้ด้วยตนเองหรือตามลำพังอย่างแน่นอน ดังนั้นการเก็บในที่ที่มิดชิดก็จะตัดปัญหาเรื่องที่เด็กจะหยิบเข้าปากมั่วๆ🤤ได้ค่ะ


วิธีป้องกันอันตรายจากสารพิษในครัวเรือน

วิธีที่ 1️⃣

เก็บสารที่ก่อให้เกิดพิษ☠️ และเจ้าตัวน้อยไม่ได้มีโอกาสจะได้ใช้บ่อยๆให้พ้นมือเด็ก หากเป็นตู้ควรเลือกตู้ที่มีฝาตู้ปิดมิดชิดหรือล็อคกุญแจ🔒ไว้หากไม่ได้ใช้บ่อยๆ

วิธีที่ 2️⃣

ในกรณีที่ใช้สารหมดนั้นหมดแล้ว ไม่ควร🙅‍♀️เก็บภาชนะที่ใส่สารไว้ด้วยความเสียดาย เพราะสารเหล่านั้นก็จะยังปนเปื้อนหรือเกาะอยู่บนภาชนะ หากเจ้าตัวน้อยเล่นภาชนะเหล่านั้นก็จะได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายได้

วิธีที่ 3️⃣

หากคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองต้องทำงานที่ใช้สารเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน ควรเลือกทำในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท🍃 แบ่งพื้นที่กับเด็กชัดเจนเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าตัวน้อยเข้ามาใกล้สารเหล่านี้ในขณะที่คุณพ่อคุณแม่กำลังใช้สารอยู่ และอาจรับสารเหล่านี้👃เข้าร่างกายไปได้อย่างไม่รู้ตัวค่ะ

วิธีที่ 4️⃣

สำหรับสารในกลุ่มยา💊 ควรหาภาชนะใส่แยกและทำฉลากไว้ให้ชัดเจนที่สุด🔖 ควรแยกพื้นที่ไว้ ไม่ควรนำไปอยู่ในบริเวณที่เด็กเข้าถึงได้ง่าย หรือนำไปอยู่รวมกับอาหาร เพราะอาจทำให้เด็กเข้าใจว่าเป็นขนมและนำเข้าปากได้ค่ะ ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรนำของกิน เช่น ขนมขบเคี้ยว ลูกอม ไปวางไว้บริเวณที่จัดไว้เพื่อเก็บยา ยกตัวอย่างเช่นตู้ยานั่นเองค่ะ

วิธีที่ 5️⃣

ให้ความรู้กับเจ้าตัวน้อย ว่าอะไรรับประทานได้อะไรรับประทานไม่ได้ สารตัวไหนใช้ภายนอกได้เท่านั้น ห้ามรับประทาน🙅‍♀️ สารตัวไหนห้ามใช้ ถ้าจะใช้ต้องมาบอกคุณพ่อคุณแม่

     อ่านมาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านก็จะเห็นแล้วนะคะว่าสารเคมี🧪ที่อาจก่อให้เกิดอันตราย☠️ต่อเจ้าตัวน้อยนั้นล้วนอยู่รอบตัวเรา สามารถพบเจอได้ง่ายมากกว่าที่คิด ดังนั้นเราจึงควรใส่ใจที่จะเก็บสารเคมีเหล่านี้ให้อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม ห่างไกลจากเด็ก เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กวัยกำลังเรียนรู้ให้มากที่สุดค่ะ