post-title

เรื่องน่ากลัวสำหรับเด็กสำหรับวัยต่างๆ

     ความกลัวนั้นถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติของมนุษย์เรา เพราะเป็นกลไกทางธรรมชาติที่จะทำให้เราสามารถหลีกเลี่ยงและเอาตัวรอด จากสิ่งที่ดูเหมือนจะสร้างอันตรายกับเราได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราทุกคนต่างมีความกลัวเป็นของตนเอง วันนี้บทความของเราจึงพาคุณผู้อ่านมาสำรวจถึงความกลัวของเจ้าตัวน้อย👶ในวัยต่างๆว่ามีอะไรบ้าง หากเราเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่มีเจ้าตัวน้อยเป็นของตนเอง หรือเป็นบุคคลที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับเด็ก จะได้มีความเข้าอกเข้าใจในความกลัวของพวกเขามากขึ้น และสามารถเรียนรู้ได้ถึงวิธีการรับมือกับความกลัวของพวกเขาอย่างถูกวิธีค่ะ💁‍♀️


ความกลัวของเด็กในแต่ละวัย

💫ความกลัวของเด็กแรกเกิดถึง 4 เดือน

อันที่จริงแล้วในช่วงอายุประมาณนี้ เด็กจะยังไม่ค่อยมีความกลัวอะไรค่ะ เพราะยังไม่สามารถตระหนักรู้ถึงเรื่องราวรอบตัวมากนัก แต่ที่เราเห็นเจ้าตัวน้อยร้อง😭อาจเกิดจากความไม่ชอบใจบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกไม่สบายตัว อึดอัด หิว แน่นท้อง🤢 อยากขับถ่าย💩 ง่วงนอน😴 แต่เด็กจะสามารถรับรู้ถึงสิ่งเร้าประเภทเสียงได้เป็นอย่างดี หากมีเสียงดังเกิดขึ้นก็อาจทำให้เด็กร้องไห้ได้เช่นเดียวกันค่ะ

💫ความกลัวของเด็กช่วง 5 เดือนถึงประมาณ 7 เดือน

เนื่องจากเจ้าตัวน้อย👶ในวัยนี้นั้นมีอายุประมาณครึ่งขวบปีได้แล้ว พัฒนาการทางด้านร่างกายดีขึ้น การรับสัมผัสถึงสิ่งเร้ารอบกายดีขึ้น หลักๆแล้วสิ่งเร้าจำพวกเสียง📢ยังเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กรู้สึกไม่ดีได้เสมอ ยกตัวอย่างที่เสียงที่ดังเกินไป💥 หรือเสียงแปลกๆที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางเสียง เช่นเสียงเครื่องซักผ้า เครื่องปั่น เครื่องดูดฝุ่น เครื่องเจาะถนน นอกจากนี้ยังเป็นช่วงอายุที่เด็กเริ่มสามารถจดจำใบหน้าของผู้คนรอบตัวได้แล้ว โดยเฉพาะผู้คนที่เคยเห็นหน้าบ่อยๆอย่างคุณพ่อคุณแม่👫ของเขาเอง จนไปถึงคนในครอบครัว ซึ่งก็เป็นปกติค่ะที่เด็กจะรู้สึกคุ้นชินกับคนที่เห็นหน้าคร่าตาบ่อยๆ และเกิดความไว้ใจ หากเด็กเห็นคนแปลกหน้าจึงเกิดอาการกลัวขึ้นมาแทนนั่นเอง เพราะรู้สึกไม่ไว้ใจค่ะ

💫ความกลัวของเด็กช่วง 7 เดือนถึงประมาณ 1 ขวบปี

ความกลัวของเด็กในวัยนี้จะมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น เป็นอิทธิพลจากเรื่องอารมณ์และความรู้สึก เนื่องจากช่วงก่อนหน้าเด็กสามารถจดจำใบหน้าผู้คนที่คุ้นชินได้แล้ว เมื่อคุ้นชินก็จะเกิดความสบายใจ😌 รู้สึกปลอดภัยเมื่อได้อยู่ใกล้ๆ เด็กจึงกลัวการแยกขาดจากคนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นคุณพ่อคุณแม่นั่นเองค่ะ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้อยู่ใกล้ๆ เด็กก็จะรู้สึกไม่ปลอดภัย เราจึงเห็นภาพเด็กๆร้องไห้😭เมื่อคุณพ่อคุณแม่ไม่อยู่เป็นประจำค่ะ

💫ความกลัวของเด็กช่วง 1 ถึง 3 ขวบปี

ความกลัวของเจ้าตัวน้อย👦ในวัยนี้จะมีความซับซ้อนขึ้นมาอีก เนื่องจากเป็นวัยที่พัฒนาการทางด้านร่างกายและทางด้านอารมณ์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เป็นช่วงที่เด็กกำลังอยู่ในวัยจินตนาการ💭 จึงเริ่มกลัวภูติผีปีศาจ👻 กลัวความมืด กลัวภาพที่ไม่คุ้นเคย จนไปถึงกลัวในสิ่งที่ผู้ใหญ่กลัว เพราะเคยได้รับการบอกเล่าว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่กลัวนั้นน่ากลัวอย่างไร นอกจากนี้เด็กในวัยดังกล่าวเป็นวัยที่มีพฤติกรรมการเลียนแบบสิ่งของและผู้คนรอบตัวอยู่แล้ว หากจะกลัวตามผู้ใหญ่อย่างไม่มีเหตุผลจึงไม่ใช่เรื่องแปลกค่ะ


วิธีรับมือกับความกลัวของเจ้าตัวน้อย

👉หากความกลัวของเด็กเกิดจากความรู้สึกไม่ปลอดภัย 

คุณพ่อคุณแม่ควรทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัย🥰 ไม่ใช่ด้วยการเข้าหาลูกตลอดเวลาในเวลาที่ลูกต้องการ แยกขาดจากกันไม่ได้ แต่เป็นการค่อยๆบอกค่อยๆสอนให้เด็กรับรู้ถึงเหตุผลที่ผู้ปกครองของพวกเขาจะไม่อยู่ในบางเวลา แต่ไม่ต้องกังวลเพราะจะกลับมาหาอยู่แล้ว เด็กจะร้องไห้งอแง😭น้อยลงและเริ่มทำความเข้าใจอย่างเป็นเหตุเป็นผลค่ะ

👉หากความกลัวของเด็กเกิดขึ้นจากสิ่งเร้าจำพวกเสียง 

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือสอนให้เด็กๆรู้จักถึงแหล่งกำเนิดของเสียง ทำให้ลูกเข้าใจว่าเสียงดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร และเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดเสียงนั้นมีอันตรายหรือไม่ ควรหลีกเลี่ยงหรือไม่ หากเด็กเข้าใจว่าอันที่จริงแล้วแหล่งกำเนิดเสียง📢ไม่ได้ก่ออันตราย ตนเองแค่ไม่ชอบที่เสียงดัง💥 เด็กก็จะหายกลัวไปเองค่ะ

👉หากความกลัวของเด็กเกิดจากจินตนาการของเขาเอง 

จนไปถึงภาพที่ไม่คุ้นตา คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถใช้โอกาสที่เด็กกลัวค่อยๆสอน🗣️เช่นกัน ว่าสิ่งที่พวกเขากลัวนั้นมีจริงหรือไม่ สมเหตุสมผลหรือไม่ หากไม่สมเหตุสมผลเด็กก็จะค่อยๆเลิกกลัวไปเอง เพราะทราบดีว่าไม่สามารถก่ออันตรายต่อตัวพวกเขาเองได้ค่ะ

     อ่านมาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านก็จะทราบแล้วนะคะว่าวิธีการรับมือกับความกลัวของเด็กนั้นไม่ได้ยากเกินความสามาถของเรา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการไม่ดูถูกความกลัวของเด็ก👶ค่ะ ทำให้พวกเขาเห็นว่าเราเคารพในความรู้สึกของพวกเขา ไม่ได้ดูถูก มันเป็นความรู้สึกที่สามารถเกิดขึ้นได้ แล้วจึงค่อยๆสอนอย่างเป็นเหตุเป็นผล เมื่อเด็กรู้สึกปลอดภัย🥰 ได้รับความเคารพความคิดเห็นและเห็นอกเห็นใจ เจ้าตัวน้อยก็จะค่อยๆเปิดใจที่จะเรียนรู้ตามวัยของพวกเขาเองค่ะ