post-title

ภาวะแท้งค้าง อันตรายไหม?

     การแท้งบุตร🩸นั้นเป็นภาวะที่คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกท่านล้วนแล้วแต่เคยกังวลทั้งสิ้น แต่คุณผู้อ่านทราบไหมคะว่าการแท้งนั้นถูกจำแนกออกเป็นหลายรูปแบบมาก ขึ้นอยู่กับลักษณะการแท้งที่แตกต่างกัน วันนี้บทความของเราจึงพาคุณผู้อ่านมาทำความรู้จักกับการแท้งที่ไม่ใช่การแท้งทั่วไปรูปแบบหนึ่ง เรียกว่าภาวะแท้งค้าง การแท้งค้างคืออะไร ต่างจากการแท้งทั่วไปอย่างไร อันตรายกับร่างกายของคุณแม่เองแค่ไหน บทความของเรามีคำตอบให้คุณผู้อ่านค่ะ💁‍♀️


ทำความรู้จักภาวะแท้งค้างเบื้องต้น

ภาวะแท้งค้างนั้นมีหลายชื่อเรียกทางภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็น Missed abortion, Missed miscarriage หรือ Silent miscarriage แต่ใจความสำคัญคือการที่ทารกหยุดเจริญเติบโตในครรภ์🚼ของคุณแม่มาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งการหยุดเจริญเติบโตก็นับเป็นการเสียชีวิตนั่นเองค่ะ แต่ไม่สามารถหลุดออกมาจากช่องคลอดของคุณแม่เองได้เพราะปากมดลูกยังคงปิดอยู่ ต้องให้แพทย์👩‍⚕️ช่วยยุติการตั้งครรภ์โดยการนำตัวอ่อนออกมาให้ ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้น้อยมากเมื่อเทียบกับการแท้งในรูปแบบอื่นๆ

👉สาเหตุของการแท้งค้าง

ทารกในครรภ์มีความผิดปกติของสารพันธุกรรม🧬 โดยปกติแล้วมนุษย์เราจะมีแท่งเก็บรหัสพันธุกรรมที่เรียกว่า “โครโมโซม” เป็นจำนวน 23 คู่ (46 แท่ง) หากโครโมโซมแท่งใดแท่งหนึ่งผิดปกติ ยาวเกินไปสั้นเกินไป จนไปถึงหายไปหรือมีแท่งเกินขึ้นมา ก็จะก่อให้ความผิดปกติด้านใดด้านหนึ่งในร่างกายทารกอย่างแน่นอน ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดก็จะทำให้ทารกไม่สามารถใช้ชีวิตหรือเจริญเติบโตในครรภ์ต่อไปได้ ซึ่งก็จะทำให้เสียชีวิต💀ตั้งแต่อยู่ในครรภ์นั่นเองค่ะ

คุณแม่เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ อาจเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์หรือไม่เกี่ยวก็ได้ จะเป็นโรคประจำตัวที่มีอยู่แล้วก็ได้ ยกตัวอย่างเช่นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ🫀 โรคเกี่ยวกับความผิดปกติของฮอร์โมนและต่อมไร้ท่อ โรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย จนไปถึงการติดเชื้อ🦠บริเวณระบบสืบพันธุ์ค่ะ

    👉วิธีสังเกตว่าตนเองเสี่ยงแท้งค้างหรือไม่

  1. อาการแพ้ท้องหายไปแบบฉับพลัน

  2. อาการคัดตึงบริเวณเต้านมหายไปแบบฉับพลัน

  3. อายุครรภ์ค่อนข้างมากแล้ว แต่สังเกตได้ว่าท้องไม่ได้โตขึ้นตามอายุครรภ์

  4. ทารกไม่ดิ้น ผิดไปจากกิจวัตรที่เคยดิ้น

  5. มีเลือดออกทางช่องคลอดอย่างผิดปกติ


ปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดภาวะแท้งค้าง

ปัจจัยที่ 1️⃣

คุณแม่มีการใช้สารเสพติด🚬เป็นประจำทั้งประเภทที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย

ปัจจัยที่ 2️⃣

คุณแม่ได้รับสารพิษร้ายแรงจากสิ่งแวดล้อม อาจมาในรูปแบบของสารปนเปื้อน จนไปถึงการใช้ยา💊บางชนิด

ปัจจัยที่ 3️⃣

คุณพ่อหรือคุณแม่ หรืออาจทั้งสองคนเริ่มมีบุตรตอนอายุมาก👵👴 เลยวัยเจริญพันธุ์ไปแล้ว

ปัจจัยที่ 4️⃣

คุณแม่เคยประสบอุบัติเหตุ🤕อย่างรุนแรงในขณะตั้งครรภ์


วิธีป้องกันและหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะแท้งค้าง

💫ควรเลือกมีลูกในช่วงวัยไม่เกิน 30 ปี

ควรมีจุดมุ่งหมายที่จะมีลูก สร้างครอบครัว👨‍👩‍👧 ควรเลือกมีลูกในช่วงวัยเจริญพันธุ์หรือไม่เกิน 30 ปี เพราะเป็นช่วงอายุที่เหมาะสมที่สุดที่เซลล์ไข่ของคุณผู้หญิงจะปฏิสนธิกับเซลล์อสุจิของคุณผู้ชายได้อย่างราบรื่น ความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความผิดปกติของสารพันธุกรรม🧬จึงค่อนข้างต่ำ และเป็นช่วงที่สภาพร่างกายของคุณผู้หญิงพร้อมต่อการฝังตัวของตัวอ่อนในครรภ์อีกด้วย ความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์จึงค่อนข้างต่ำเช่นเดียวกันค่ะ

💫ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง

ดูแลสุขภาพร่างกายโดยรวมของตนเองให้แข็งแรง💪อยู่เสมอ ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์จนไปถึงช่วงที่กำลังตั้งครรภ์เลยค่ะ

💫ตรวจสุขภาพประจำปี

ตรวจ🩺หาโรคประจำตัว เพื่อช่วยในการวางแผนว่าจะสามารถตั้งครรภ์และคลอดบุตรได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ หากมีความเสี่ยงจะสามารถลดความเสี่ยงนั้นอย่างไรให้มากที่สุด

     แม้ภาวะแท้งค้าง🩸นั้นจะเป็นภาวะที่พบได้ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับการแท้งรูปแบบอื่นๆ แต่ก็นับเป็นสิ่งที่น่ากังวลสำหรับคุณแม่ เพราะนอกจากจะสร้างความสูญเสียและส่งผลกระทบต่อจิตใจแล้ว ยังอาจทำให้คุณแม่มีระบบควบคุมการแข็งตัวของเลือดหรือการเกิดลิ่มเลือดที่ผิดปกติไปจากเดิม เลือดแข็งตัวยากขึ้นเมื่อเทียบกับคนทั่วไป สิ่งสำคัญที่สุดคือการเข้าไปฝากครรภ์เพื่อให้ทั้งตัวคุณแม่เองและเจ้าตัวน้อยในครรภ์อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ👩‍⚕️ และหมั่นสังเกตร่างกายของตนเองอยู่เสมอในช่วงที่ตั้งครรภ์ ไม่ควรมองข้ามสัญญาณเล็กๆน้อยๆค่ะ