post-title

น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นในอุดมคติระหว่างตั้งครรภ์คืออะไร

     คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์🤰อาจมีข้อกังวลเรื่องน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น โดยน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้คุณหมอ👩‍⚕️สามารถประเมินสุขภาพของแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้ค่ะ หลายคนอาจจะได้ยินคำว่า น้ำหนักตามเกณฑ์ หรือน้ำหนักในอุดมคติระหว่างตั้งครรภ์ จริงๆแล้วแต่ละช่วงอายุครรภ์คุณแม่ควรมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ เรามาดูน้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นในแต่ละไตรมาสกันค่ะ💁‍♀️


น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นสำคัญอย่างไร

👉น้ำหนักเพิ่มแต่ยังน้อยเกินไป

การเพิ่มขึ้นของน้ำหนักคุณแม่ สามารถช่วยให้ทารกมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง💪 หากน้ำหนักตัวของคุณแม่เพิ่มน้อยเกินไป จะมีความเสี่ยงที่ลูกน้อยอาจมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ ตัวเล็กเกินไป อาจส่งผลให้ลูกน้อยมีพัฒนาการไม่สมบูรณ์ เพิ่มความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น😷 และอาจเกิดปัญหาพัฒนาการล่าช้า โดยน้ำหนักทารกต่ำกว่าเกณฑ์คือน้อยกว่า 2.5 กก.ค่ะ

👉น้ำหนักตัวเพิ่มมากเกินไป 

คุณแม่ที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็วและมากเกินไป อาจทำให้คุณแม่ท้องปวดหลัง และเส้นเลือดขอด และนำมาซึ่งสาเหตุของภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น  โรคเบาหวาน🍰เนื่องจากการตั้งครรภ์(Gestational Diabetes – GDM)  และความดันโลหิตสูงเนื่องจากการตั้งครรภ์(Pregnancy-induced Hypertension – PIH) ลูกน้อยอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่คลอดออกมาตัวใหญ่ ซึ่งอาจกลายเป็นคนอ้วน🐷ในอนาคต นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการคลอดได้อีกด้วยค่ะ


ตลอดการที่ตั้งครรภ์ 9 เดือนน้ำหนักควรขึ้นเท่าไหร่

💫ไตรมาสที่ 1  อายุครรภ์ 1-3 เดือน 

ในช่วงแรกของการคุณแม่ที่ตั้งครรภ์น้ำหนักจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้มากนักค่ะ คุณแม่บางคนอาจจะสังเกตภายนอกแทบไม่ออกเลยว่าเป็นคนท้อง เพราะรูปร่างของคุณแม่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก🧍‍♀️ บางคนน้ำหนักอาจจะลดลงด้วยซ้ำ เพราะอาจแพ้ท้องจนกินไม่ได้🤢 เหม็นกลิ่นอาหาร🙊 นอนไม่หลับ แพ้ท้องมาตลอด 3 เดือน ช่วงนี้ถ้าน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นก็มักไม่เกิน 2 กิโลกรัมค่ะ

💫ไตรมาสที่ 2 อายุครรภ์ 4-6 เดือน

ในระยะนี้น้ำหนักของคุณแม่จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นแล้วค่ะ โดยปกติแล้วน้ำหนักจะขึ้นสัปดาห์ละ 0.25 กิโลกรัมโดยประมาณ หรือเดือนละ 1-1.5 กิโลกรัม โดยเฉพาะคุณแม่ท้องแรก อาจดูอิ่มเอิบขึ้นมานิดหน่อย🥰 แค่มีพอน้ำมีนวลนิด ๆ ได้เวลาหยิบชุดใส่ชุดคลุมท้องแฟชั่น👗คุณแม่ๆมาใส่แล้วค่ะ แต่อาจมีคุณแม่บางคนพอที่หายแพ้ท้องได้ไม่เท่าไหร่ ก็ต้องมีของที่อยากกินเต็มไปหมด ดังนั้นน้ำหนักอาจจะเพิ่มขึ้นจากพฤติกรรมการกินของคุณแม่ด้วยค่ะ

💫ไตรมาสที่ 3 อายุครรภ์ 7-9 เดือน

ในระยะโค้งสุดท้ายก่อนคลอดนี้รูปร่างของคุณจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด เห็นท้องชัดเจน🤰 เพราะน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัม หรือประมาณเดือนละ 2-2.5 กิโลกรัม ในเดือนสุดท้ายช่วงใกล้คลอด น้ำหนักจะคงที่หรือลดลงเล็กน้อย ช่วงนี้ลูกจะเจริญเติบโตเร็วมากค่ะ ทั้งทางสมอง🧠และร่างกายและเป็นช่วงที่คุณแม่เจริญอาหารมากที่สุดเพราะทารกในครรภ์ต้องการสารอาหาร🥦จากคุณแม่เพื่อเจริญเติบโตค่ะ


น้ำหนักตามดัชนีมวลกาย หรือ BMI ของคุณแม่ตั้งครรภ์ 

คุณแม่แต่ละคนก็จะมีน้ำหนักและส่วนสูงต่างกันออกไป ดังนั้นน้ำหนักที่พอดี เหมาะสมตามอายุครรภ์ หรือที่เรียกว่าน้ำหนักในอุดมคติตามเกณฑ์นั้น ย่อมต่างกันไปค่ะ ถ้าอยากรู้ว่าน้ำหนักที่พอดีสำหรับตัวเรานั้น ควรเป็นเท่าไร คุณแม่สามารถประเมินได้ด้วยตัวเอง โดยใช้การคำนวณดัชนีมวลกาย หรือ BMI (Body Mass Index) คือ เอาน้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์ (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง แล้วนำค่าดัชนีมวลกายที่ได้ มาเปรียบเทียบกับตารางด้านล่างดังนี้

ดัชนีมวลกายก่อนตั้งครรภ์ (BMI) คำนวณโดยน้ำหนัก(ก.ก.)/ความสูง(เมตร2)

น้ำหนักควรเพิ่มขึ้น 

(กิโลกรัม)

BMI < 18.5 (น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์)

12.5 – 18.0

BMI 18.5 – 24.9 (น้ำหนักตัวปกติ)

11.5 – 16.0

BMI 25.0 – 29.9 (น้ำหนักตัวเกิน)

7.0 – 11.5

BMI ≥ 30 (โรคอ้วน)

5.0 – 9.0

การตั้งครรภ์แฝด

15.9 – 20.4