post-title

ลูกสูญเสียการได้ยิน รีบรักษาก่อนจะสายเกินไป!

     ภาวะการสูญเสียการได้ยิน👂ในเด็กแรกเกิดนั้นเป็นสิ่งที่คุณแม่มือใหม่ทุกคนไม่ควรมองข้าม และควรได้ผ่านการตรวจมาหลาย ๆ ชนิดกันมาบ้างแล้วใช่ไหมคะ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ลูกสูญเสียการได้ยิน จะมีสิ่งใดบ้างที่คุณแม่ควรปฏิบัติตาม เราได้หาคำตอบมาไว้ให้ในที่นี้แล้วค่ะ💁‍♀️


ปัญหาการสูญเสียการได้ยินส่งผลอะไรต่อทารกแรกเกิดบ้าง?

✨ส่งผลต่อพัฒนาการของสมอง

ผลกระทบของการสูญเสียการได้ยินในเด็กนั้น ไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องหูไม่ได้ยินเฉย ๆ แต่ยังส่งผลต่อพัฒนาการในด้านต่าง ๆ เมื่อเขาโตขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของภาษา🔤 เพราะเมื่อเด็กไม่ได้ยิน ก็จะพูดไม่ได้ เพราะจริง ๆ แล้วการฟังของเราไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่หู หูเป็นเพียงอวัยวะที่รับเสียงเข้ามา แล้วส่งสัญญาณประสาทไปที่สมอง🧠 ดังนั้น ปัญหาการสูญเสียการได้ยินนั้น อาจกล่าวได้ว่า เป็นปัญหาที่ส่งผลถึงสมองของเด็กด้วย เพราะเมื่อไม่ได้ยินเสียง เสียงส่งไม่ถึงสมอง สมองของเด็กก็จะไม่ได้รับการ กระตุ้น ซึ่งในช่วงเวลา 5 ขวบปีแรกของเด็กนั้น ยิ่งเด็กมีการได้ยินที่ดีเท่าไร ก็จะยิ่งส่งผลต่อการฝึกทักษะในด้านต่าง ๆ ของเขามากเท่านั้น 

✨ส่งผลต่อสังคมรอบข้าง

นอกจากนี้ ผลกระทบของการไม่ได้ยินในระยะยาว ก็ไม่ได้ส่งผลแค่กับตัวเด็กเองเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสังคมรอบข้างของเขาอีกด้วย เนื่องจากเด็กที่สูญเสียการได้ยิน ต้องอาศัยการพึ่งพาคนอื่นในการดำเนินชีวิต อีกทั้งยังอาจพลาดโอกาสในการประกอบอาชีพต่าง ๆ เมื่อเขาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่👩‍💻 ดังนั้น ภาวะการสูญเสียการได้ยินในเด็ก จึงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ควรใส่ใจ และเป็นสาเหตุว่า ทำไมเด็กแรกเกิดทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองการได้ยิน


ความสำคัญของการตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กแรก

🩺เพื่อที่จะได้สามารถรักษาอาการได้ทันเวลา

ภาวะการสูญเสียการได้ยิน เป็นความพิการที่มองไม่เห็นจากภายนอก จึงมักจะถูกมองข้ามไป ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่รู้สึกสงสัยว่าบุตรหลานของตนมีความผิดปกติทางการได้ยิน สามารถเริ่มจากการสังเกตอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง เช่น พบว่า เรียกแล้วไม่หัน😐 ได้ยินเสียงดังแล้วไม่สะดุ้ง หรือไม่สามารถส่งเสียงที่เป็นภาษาที่สามารถเข้าใจได้ เมื่อมีอายุ 1 ขวบขึ้นไป และสามารถตรวจให้คุณหมอทำการคัดกรองได้ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ หากตรวจพบอาการได้เร็ว ก็จะได้รับการแก้ไขภาวะการสูญเสียการได้ยินอย่างเหมาะสม และทันท่วงที เด็กก็สามารถที่จะเติบโต  และใช้ชีวิตได้อย่างปกติ สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนปกติ🏫ได้ไม่ต่างจากเด็กทั่วไป 


วิธีรักษาสำหรับฟื้นฟูภาวะสูญเสียการได้ยินในเด็ก

💫ใช้อุปกรณ์ในการช่วยฟัง 

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน มีอุปกรณ์มากมายที่ใช้สำหรับช่วยเหลือเด็กที่มีภาวะสูญเสียการได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องช่วยฟัง ซึ่งจะทำหน้าที่ในการขยายเสียง เพื่อให้เสียงมีความดัง และชัดเจนยิ่งขึ้นสำหรับเด็กที่สูญเสียการได้ยินในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องช่วยฟังอาจไม่ได้ผลในเด็กที่มีการสูญเสียการได้ยินในระดับรุนแรงถึงหูหนวก👂 เนื่องจากเด็กจะไม่เข้าใจเสียงที่ได้ยิน จึงไม่เพียงพอต่อการเรียนรู้ที่จะพูด

     ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกเข้ารับการตรวจคัดกรองการได้ยิน ตั้งแต่ลูกยังอายุไม่เกิน 3 เดือน และหากพบความผิดปกติ ก็ควรได้รับการรักษาภายในอายุไม่เกิน 6 เดือน แพทย์🧑‍⚕️จะทำการประเมินอาการ แนะนำแนวทางในการรักษา และฟื้นฟูการได้ยิน ตามแต่ลักษณะ และความรุนแรงของการสูญเสียการได้ยิน ซึ่งปัญหาบางส่วนสามารถทำการแก้ไขให้หาย หรือดีขึ้นได้ จากการใช้ยา หรือในบางรายที่จำเป็น ก็สามารถใช้เครื่องช่วยฟัง หรือผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้ดียิ่งขึ้น