post-title

การนัดติดตามตรรจครรภ์ ไม่ไปตามนัดจะเป็นอะไรไหม?

     ในช่วงของการตั้งครรภ์ถือเป็นช่วงที่คุณแม่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะร่างกายและสรีระต่างๆได้มีการเปลี่ยนแปลงระหว่างตั้งครรภ์ รวมไปถึงการเจริฐเติบโตของเจ้าตัวน้อยในครรภ์ด้วย ดังนั้นคุณหมอจึงนัดตรวจครรภ์อยู่เสมอ คุณแม่เกิดคำถามขึ้นมาว่าถ้าไม่ไปตามนัดเพราะติดธุระ เปลี่ยนไปเดือนหน้าแทนจะได้ไหม🤔 วันนี้เรามีคำตอบมาให้คุณแม่ทราบค่ะ


วิธีนับอายุครรภ์ของคุณแม่ท้อง

👉การนับอายุครรภ์ในทางการแพทย์จะเริ่มนับตั้งแต่เมื่อประจำเดือนไม่มา 

โดยสามารถแบ่งออกเป็นสามไตรมาส ดังต่อไปนี้

ไตรมาสที่ 1 (เดือน 1 - 3) นับจากช่วงสัปดาห์ที่ 1 - 14

ไตรมาสที่ 2 (เดือน 4 - 6) นับจากช่วงสัปดาห์ที่ 15 - 28

ไตรมาสที่ 3 (เดือน 7 - 9) นับจากช่วงสัปดาห์ที่ 29- 42


คุณแม่ควรตรวจครรภ์ทั้งหมดกี่ครั้ง

🤰คุณแม่ควรฝากครรภ์อย่างน้อย 8 ครั้ง 

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้คุณแม่มาฝากครรภ์อย่างน้อย 8 ครั้ง ก่อนคลอด เพื่อการตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ ดังนั้นการฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอจึงเป็นมีความสำคัญต่อการติดตามดูสุขภาพและพัฒนาการของทารกในครรภ์👶


คุณหมอตรวจอะไรบ้างในแต่ละไตรมาสของการตั้งครรภ์

✨ไตรมาสที่ 1

โดยทั่วไปแนะนำให้คุณแม่ไปให้ฝากครรภ์ทันทีเมื่อทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ ช่วงไตรมาสที่ 1 สูติแพทย์จะนัดฝากครรภ์ทุก 4 สัปดาห์ โดยคุณหมอจะเน้นเรื่องให้ความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ติดตามอาการแพ้ท้อง🤮 และกระบวนการฝากครรภ์ รวมไปถึงการตรวจเลือดคัดกรองโรคต่างๆ เช่น ตรวจกรุ๊ปเลือด ตรวจโรคติดเชื้อ🦠 ตรวจโรคเลือดธาลัสซีเมีย เป็นต้น และยังเน้นการรับประทานให้เพียงพอ และสารอาหารที่ต้องทานเพิ่ม เช่น ธาตุเหล็ก (วันละ 30-60 มิลลิกรัม) และธาตุโฟเลท (วันละ 400 ไมโครกรัม) 

ไตรมาสที่ 2

ในไตรมาสที่ 2 สูติแพทย์จะนัดฝากครรภ์ทุก 4 สัปดาห์ คุณหมอจะเน้นการตรวจติดตามขนาดของยอดมดลูก การคัดกรองเบาหวานของสตรีตั้งครรภ์ (อายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์) การสร้างภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่💉 บาดทะยัก การตรวจคัดกรองพันธุกรรม🧬หรือความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์(อายุครรภ์ 18-22 สัปดาห์) และการสอนคุณแม่นับลูกดิ้นในไตรมาสนี้นั่นเอง 

ไตรมาสที่ 3

ไตรมาสที่ 3 ถือว่าเป็นช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์ สูติแพทย์จะนัดตรวจครรภ์ถี่ขึ้นเป็นทุก 2 สัปดาห์ จนกระทั่งอายุครรภ์ได้ 36 สัปดาห์ จึงนัดเป็นทุกสัปดาห์จนคลอด ในไตรมาสสุดท้ายจะเป็นการเน้นเรื่องการเฝ้าระวังการคลอดก่อนกำหนด ภาวะครรภ์เป็นพิษ การตกเลือด🩸ก่อนคลอด การเตรียมตัวคลอดบุตร การเลือกช่องทางคลอด เช่น การคลอดธรรมชาติ หรือการผ่าคลอด การนับลูกดิ้นและติดตามตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์จนถึงวิธีสังเกตอาการเตือนก่อนคลอด  

     สรุปได้ว่าฝากครรภ์ในแต่ละครั้งล้วนมีความสำคัญทางรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังนั้นหากคุณแม่ไม่สามารถมาฝากครรภ์ตามนัดก็อาจพลาดโอกาสในการดูแลหรือการตรวจที่สำคัญในช่วงอายุครรภ์นั้นๆ หากมีความจำที่ต้องเลื่อนนัดฝากครรภ์ คุณแม่ควรมาติดตามการฝากครรภ์ในสัปดาห์ถัดไป หรือเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้สูติแพทย์👩‍⚕️ช่วยดูแลครรภ์ได้อย่างใกล้และช่วยวางแผนการคลอดที่เหมาะสมค่ะ