คุณแม่ส่วนใหญ่ที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน คงเริ่มสนใจอยากทำสต็อกนมแม่เพื่อให้ลูกน้อยได้มีนมกินได้นานๆใช่ไหมคะ? แต่ว่าคุณแม่รู้วิธีเก็บรักษาสต็อกนมได้อย่างถูกต้องหรือไม่ หากเก็บรักษาได้อย่างถูกวิธีจะทำให้นมแม่ยังคงมีสารอาหารสำคัญเหมือนเดิม ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน ลูกน้อยกินแล้วไม่เกิดอาการท้องเสีย วันนี้ทางเรามีคำตอบมาให้คุณแม่แล้วค่ะ💁♀️
วิธีเก็บนมแม่อย่างถูกต้อง แบ่งเป็น 3 ขั้นตอนดังนี้
✨ขั้นตอนที่ 1 : ล้างมือให้สะอาดเสมอ
คุณแม่ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่🧼 หรือใช้เจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ไม่น้อยกว่า 60% ตรวจสอบปั๊มนมให้แน่ใจว่าสะอาดก่อนการใช้งานจริง หากคุณแม่ต้องใช้ปั๊มนมร่วมกับผู้อื่น ให้ทำความสะอาดภายนอกปั๊มและบริเวณใกล้เคียงด้วยกระดาษเช็ดฆ่าเชื้อก่อนทุกครั้ง หลังจากนั้นให้คุณแม่เริ่มปั๊มนมด้วยมือหรือเครื่องปั๊มตามสะดวกได้เลยค่ะ
✨ขั้นตอนที่ 2 : ใส่ใจในการเลือกใช้ถุงบรรจุนม
ใช้ถุงเก็บนมแม่ หรือภาชนะเกรดที่ใช้กับอาหารและสะอาดได้ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าภาชนะทำจากแก้วหรือพลาสติกที่มีฝาปิดสนิท เพื่อเป็นการป้องกันเชื้อแบคทีเรีย🦠 คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ขวดที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลหมายเลข 7 สิ่งสำคัญคือห้ามเก็บน้ำนมแม่ในขวดแบบใช้แล้วทิ้งหรือถุงพลาสติกที่ไม่ได้มีไว้สำหรับเก็บนมแม่เด็ดขาด
✨ขั้นตอนที่ 3 : อุณหภูมิและระยะเวลาของสต็อคนม
คุณแม่สามารถเก็บสต็อกนมไว้ที่อุณหภูมิห้อง ซึ่งสามารถเก็บได้ถึง 4 ชั่วโมงเลยค่ะ แต่ถ้าเก็บในตู้เย็น จะสามารถเก็บได้ยาวนานถึง 4 วัน และในช่องแข็ง จะสามารถเก็บไว้ใช้ได้ถึง 6 เดือน ซึ่งยังถือว่ามีคุณภาพดีที่สุด ในกรณีที่มากกว่า 6 เดือนแต่ไม่เกิน 12 เดือน คุณภาพยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ แต่ถ้าหากเกินกว่านั้นคุณหมอจะไม่แนะนำ🙅♀️ เพราะถือว่าจะไม่ได้คุณภาพที่ดีที่สุด เพราะหากเกิน 1 ปีไปแล้ว คุณแม่ต้องชิมก่อนให้ลูกทานทุกครั้ง ถ้านมไม่มีรสเปรี้ยว หรือกลิ่นเหม็น จึงสามารถให้ลูกทานได้ตามปกติค่ะ
เทคนิคการเก็บรักษานมแม่
นมแม่สามารถเก็บได้ไว้ใช้ได้นาน เพียงแค่ทำตามนี้
- เขียนฉลากติดลงบนถุงนมให้ชัดเจนว่าปั๊มเมื่อไหร่📝
- ไม่เก็บถุงนมแม่ที่ฝาตู้เย็นหรือฝาตู้แช่แข็ง เนื่องจากจะทำให้อุณหภูมิ🌡️ของนมแม่เปลี่ยนไปเวลาเปิดปิดตู้ทำให้ไม่สามารถเก็บได้นานตามที่แนะนำข้างต้น
- ถ้าคุณไม่มีแผนจะใช้นมที่คุณปั๊มภายใน 4 วัน ควรจะแช่แข็งทันที เพื่อรักษาคุณภาพของนมแม่🍼
- ในการแช่แข็งนมแม่ มีเทคนิคดังนี้
👉ให้แบ่งเป็นถุงเล็กๆ พอทานในแต่ละมื้อ หรือประมาณ 2-4 ออนซ์ เพื่อไม่ต้องให้นมเหลือ
👉ควรบรรจุนมให้มีระยะห่างจากปากถุงประมาณ 1 นิ้ว เพราะนมจะขยายตัวเมื่อแข็ง
👉ควรรีดอากาศ💨ออกจากถุงให้มากที่สุดก่อนแช่แข็ง เพื่อไม่ให้นมเหม็นหืนมากนัก
- ถ้าจะต้องนำนมแม่ไปให้ลูกน้อยใช้ที่โรงเรียน🏫หรือสถานดูแลเด็ก ควรระบุชื่อลูกน้อยให้ชัดเจน
- นมแม่ที่ปั๊มออกมาสามารถเก็บในถุงเก็บความเย็นได้ถึง 24 ชั่วโมงระหว่างที่คุณต้องเดินทาง🚗 และเมื่อถึงที่หมาย ต้องนำนมออกมาเข้าตู้เย็นหรือตู้แช่แข็งในทันที
- มีบางกรณีที่ตู้เย็นอาจปิดไม่สนิท หรือ ไฟดับ ทำให้มีปัญหานมละลาย แต่ยังมีความเย็นอยู่ กรณีนี้อายุของนมที่เก็บจะไม่นานเท่าเดิม หากจะใช้นม จะต้องทำการชิมทุกครั้งว่าเปรี้ยวหรือไม่🤢 ถ้าเปรี้ยวหรือไม่แน่ใจ ก็ไม่ควรนำมาให้ลูกกิน
อุ่นนมแม่อย่างไรให้ปลอดภัย?
7 เกล็ดความรู้ง่ายๆในการอุ่นนมแม่ให้ไม่เสียคุณภาพ
1️⃣ นำนมแม่ถุงที่เก่าที่สุดมาละลายในช่องแช่เย็นก่อน 1 คืนล่วงหน้า ต้องพึงระลึกว่าเข้าก่อนออกก่อน เนื่องจากคุณภาพของนมแม่จะลดลงตามกาลเวลา
2️⃣ ละลายน้ำนมในภาชนะที่มีน้ำอุ่น
3️⃣ เปิดน้ำอุ่น♨️ผ่านนมแม่เพื่อละลายน้ำนม
4️⃣ ห้ามละลายนมแม่โดยใช้ไมโครเวฟเด็ดขาด เนื่องจากไมโครเวฟจะทำลายสารอาหารในนมแม่และยังจะร้อนเกิน🥵สำหรับเด็กทารก
5️⃣ ถ้าคุณแม่ละลายนมในตู้เย็น ต้องให้ทารกทานนมภายใน 24 ชั่วโมงทันที⏳ โดยนับจากจุดที่นมละลายอย่างสมบูรณ์ ไม่ได้นับจากเวลาที่ย้ายจากตู้แช่แข็ง
6️⃣ ถ้าน้ำนมแม่ถูกเอาออกมาวางในอุณหภูมิห้อง ต้องใช้ภายใน 2 ชั่วโมง
7️⃣ ห้ามนำนมแม่ที่ละลายแล้วกลับเข้าช่องแช่แข็งเด็ดขาด🙅♀️
ทราบอย่างนี้แล้วคุณแม่ก็สามาระเก็บรักษาสต็อกนมแม่🍼ไว้ให้เจ้าตัวน้อยกินได้อย่างยาวนานและปลอดภัยต่อสุขภาพอีกด้วย อย่าลืมว่าไม่ควรละลายนมด้วยไมโครเวฟเป็นเด็ดขาดนะคะ เพราะการกระทำเช่นนั้นจะทำให้สารอาหารในนมถูกทำลาย แถมยังอาจร้อนจนลวกปากเจ้าตัวน้อย👶ได้อีกเช่นกันค่ะ