post-title

อยู่ไฟหลังคลอด จำเป็นต้องทำไหม?

     คุณแม่อาจเคยได้ยินกับคำว่าการอยู่ไฟหลังคลอดมาบ้างแล้วใช่ไหมคะ มีความเชื่อว่าการอยู่ไฟหลังคลอดจะช่วยให้ร่างกายของคุณแม่สามารถฟื้นฟูกับสู่สภาพปกติได้เร็วยิ่งขึ้น แถมยังช่วยให้แผลฝีเย็บแห้งเร็วและลดการอักเสบจากการกระตุ้นและการหดรัดตัวของมดลูก ทำให้มดลูกเข้าอู่และยังสามารถขับน้ำคาวปลาออกมาหลังคลอดได้ด้วย ช่วยปรับสมดุลในร่างกายของคุณแม่ให้กลับมาเป็นปกติ จริงๆแล้วการอยู่ไฟหลังคลอดจำเป็นสำหรับคุณแม่หลังคลอดทุกคนไหม วันนี้ทางเราได้หาคำตอบมาให้คุณแม่แล้วค่ะ💁‍♀️


การอยู่ไฟหลังคลอด คืออะไร?

✨การดูแลสุขภาพของคุณแม่หลังคลอดบุตร

การอยู่ไฟหลังคลอด คือการดูแลสุขภาพของคุณแม่หลังคลอดในระยะแรก ซึ่งใช้การนั่งผิงไฟ🔥 การเข้ากระโจม การอาบสมุนไพร การนั่งถ่าน การทับหม้อเกลือ การนวด การประคบ การรับประทานยา หรือการรับประทานอาหารเฉพาะ เป็นต้น โดยเชื่อว่าการอยู่ไฟของคุณแม่หลังคลอด จะเป็นการปรับสมดุลของธาตุในร่างการที่แปรปรวนไปจากการคลอด จริงๆแล้วคุณหมอได้กล่าวว่า “คุณแม่ไม่จำเป็นต้องอยู่ไฟหลังคลอด🙅‍♀️ เพราะการคลอดในโรงพยาบาลไม่ว่าจะโดยการผ่าตัดหรือคลอดเอง คุณหมอจะให้ยาที่ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เพื่อป้องกันการตกเลือดและช่วยขับน้ำคาวปลาเรียบร้อยแล้ว” 

ในสมัยโบราณการอยู่ไฟจะให้คุณแม่นอนอยู่บนแผ่นกระดานใหญ่แล้วเอากองไฟมาก่อไว้ใต้กระดาน เรียกว่า ‘อยู่ไฟญวน’ หรือ ‘ไฟแคร่’ และมีแบบกองไฟอยู่ข้างๆ เรียก ‘อยู่ไฟไทย’ หรือ ‘ไฟข้าง’ และคุณแม่จะต้องอยู่ในเรือนไฟนานถึง 7-15 วัน และห้ามออกจากเรือนไฟโดยเด็ดขาด  เพราะหากออกก่อนเวลาที่กำหนด อาจจะทำให้อุณหภูมิร่างกายของคุณแม่ปรับตัวไม่ทัน ทำให้เกิดการเจ็บป่วย😷และไม่สบายได้ในที่สุด นอกจากนี้ คุณแม่ต้องอาบน้ำร้อนทุกวัน ดื่มเฉพาะน้ำอุ่น และงดอาหารแสลงหลายอย่างโดยอาหารหลักที่คุณแม่สามารถทานได้ คือข้าวกับเกลือ หรือข้าวกับปลาเค็ม🐟 ซึ่งการอยู่ไฟแบบโบราณนี้ถือว่าค่อนข้างอันตรายค่ะ

ในปัจจุบันการอยู่ไฟได้ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย จากการให้ความร้อนทั่วตัวมาเป็นการให้ความร้อนเฉพาะบริเวณหน้าท้อง โดยนิยมใช้กัน 2 แบบ ได้แก่ 

1️⃣ใช้กระเป๋าน้ำร้อน👝วางบริเวณหน้าท้อง หรือ ใช้ชุดคาดไฟซึ่งเป็นชุดที่ประกอบไปด้วยกล่องอะลูมิเนียมสำหรับใส่ชุดซึ่งเป็นเชื้อไฟ เมื่อจุดไฟแล้วก็ใส่กล่องไว้ กล่องจะร้อน 

2️⃣การอยู่ไฟด้วยแพทย์แผนไทย เป็นการอาบและอบสมุนไพร🌿 โดยมีการนวดประคบ การเข้ากระโจม การอาบน้ำสมุนไพร และลงท้ายด้วยการนาบหม้อเกลือ 


สิ่งที่คุณแม่ต้องคำนึงก่อนเข้ารับการอยู่ไฟหลังคลอด

👉3 ข้อพึงระวังในกรณีที่คุณแม่ต้องการอยู่ไฟหลังคลอด มีดังต่อไปนี้

1.ระวังทารกขาดนมแม่ เพราะทารกแรกคลอดย่อมมีความต้องการในการดูดนมจากเต้าแม่🤱

2.ระวังสารพอกตัวที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค🦠 หากมีสารปนเปื้อนติดมาที่เต้าคุณแม่ แล้วแม่ไม่ได้อาบน้ำให้สะอาด ลูกมาดูดที่เต้าอาจจะมีปัญหาท้องเสียได้

3.ระวังยาที่ให้ทานขณะอยู่ไฟ ยาบางชนิด💊ที่คุณแม่ทานไป อาจทำให้ลูกมีปัญหาแพ้เป็นผื่นหรือท้องเสียตามมา

ดังนั้น หากต้องการอยู่ไฟจริงๆ คุณหมอแนะนำให้เลือกที่อยู่ไฟที่มีมาตรฐานความปลอดภัย ความสะอาด และไม่ขัดต่อการให้นมลูกจากเต้าอย่างต่อเนื่องนะคะ และคุณแม่หลังคลอดที่มีลักษณะต่อไปดังนี้ ห้ามอยู่ไฟเด็ดขาด

-คุณแม่หลังคลอดที่มีไข้สูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียส🌡️

-คุณแม่หลังคลอดที่เป็นโรคหัวใจ🫀 โรคความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด โรคลมชัก  โรคไต

-คุณแม่หลังคลอดที่มีการตกเลือด🩸

     โดยสรุปแล้ว การอยู่ไฟไม่ได้จำเป็นสำหรับคุณแม่หลังคลอดทุกคนค่ะ แต่ที่สำคัญคือ การดูแลตัวเองทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ คุณหมอแนะนำว่าหลังคลอดคุณแม่ควรทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เพื่อเป็นการซ่อมแซมบาดแผลที่เกิดจากการคลอด และการสร้างน้ำนม งดอาหารเผ็ด🌶️ และหมั่นดื่มน้ำให้มากพอสำหรับการผลิตน้ำนมให้ลูกด้วยนะคะ นอกจากนี้คุณแม่อย่าลืมดูแลแผลฝีเย็บหรือแผลผ่าตัดตามคำแนะนำของแพทย์ งดกิจกรรมที่คุณแม่ไม่ควรทำในช่วง 6 สัปดาห์หลังคลอด ได้แก่

-ไม่ควรยกของที่มีน้ำหนักมากกว่าน้ำหนักของทารก

-ไม่ควรออกแรงแบ่งมากๆ หรือนานๆ

-ไม่ควรขึ้น-ลง บันไดบ่อยๆ

-ไม่ควรขับรถโดยไม่จำเป็น🚘

-ไม่ควรออกกำลังกายหักโหม ทำได้เฉพาะท่ากายบริหารเบาๆ