post-title

กินนมกล่องมากไป ใช่ว่าจะดี!

     เราทุกคนต่างเคยได้รับการปลูกฝังมาว่า น้ำนมนั้นถือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์แก่ร่างกาย เมื่อเราเกิดมา อาหารชนิดแรกของเราก็คือน้ำนม🍼 และเมื่อเราโตขึ้น นมกล่องก็ยังถือเป็นอาหารหรือเครื่องดื่มประเภทที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอยู่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า อาหารหรือเครื่องดื่มทุกอย่าง แม้จะถูกจัดว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่หากรับประทานมากเกินไปนั้นก็ล้วนแต่ส่งผลเสียบางอย่างแทนทั้งสิ้นรวมถึงเครื่องดื่มอย่างนมกล่องด้วย วันนี้บทความของเราพาคุณผู้อ่านมาดูถึงข้อควรระวังในการเลือกรับประทานนมกล่อง ว่าเท่าใดคือปริมาณที่เหมาะสม และหากรับประทานในปริมาณที่ไม่เหมาะสม จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อร่างกายได้บ้าง เราไปดูพร้อมๆกันเลยค่ะ💁‍♀️


ปริมาณสารอาหารในน้ำนม

    เป็นที่ทราบกันดีว่า พอพูดถึงเครื่องดื่มประเภทนม เราจะนึกถึงประโยชน์ในแง่ของการบำรุงกระดูกและฟัน🦷 เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุจำพวกแคลเซียม ดังนั้นการที่เราดื่มนมก็แปลว่าเราคาดหวังว่าจะได้รับแร่ธาตุแคลเซียมแน่นอน แต่บางท่านอาจจะยังไม่ทราบหรือไม่สามารถกะประมาณปริมาณแคลเซียมที่เราจะได้รับได้ อันที่จริงแล้วคุณผู้อ่านสามารถกะประมาณได้ง่ายๆ โดยให้จินตนาการว่าเราจะได้รับแคลเซียม 1 มิลลิกรัม หากเราดื่มนมปริมาตร 1 ซีซี หรือ 1 มิลลิลิตร จากนั้นจึงไปคำนึงถึงปริมาณแคลเซียมที่เจ้าตัวน้อย👶ของเราควรได้รับในช่วงอายุที่ต่างกัน ซึ่งจะกล่าวถึงรายละเอียดในหัวข้อถัดไปค่ะ

ปริมาณแคลเซียมที่เด็กในแต่ละวัยควรได้รับ

  • สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี จะยังไม่แนะนำให้รับประทานนมกล่อง เพราะสามารถรับประทานน้ำนมของคุณแม่🤱 ซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารที่หลากหลายกว่านมกล่องหลายเท่าอยู่แล้วค่ะ

  • สำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1-3 ปี ต้องการแร่ธาตุแคลเซียมประมาณ 500 มิลลิกรัมต่อวัน ดังนั้นก็ควรดื่มน้ำนมประมาณ 500 มิลลิลิตร เทียบเป็นกล่องก็คือการดื่มนมประมาณ 2 กล่องนั่นเอง

  • สำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 4-8 ปี จะต้องการแคลเซียมเพิ่มมากขึ้น อยู่ที่ประมาณ 800 มิลลิกรัมต่อวัน ดังนั้นก็ควรดื่มนมให้ได้ประมาณ 800 มิลลิลิตรต่อวันหรือประมาณ 3 - 4 กล่องเป็นอย่างต่ำนั่นเอง

  • สำหรับเด็กที่มีอายุมากกว่า 8 ปี ซึ่งถือว่าเป็นช่วงวัยเด็กโต👦 จนไปถึงช่วงที่กำลังจะเข้าวัยรุ่น นับเป็นช่วงที่แคลเซียมจะมีบทบาทมากในการเจริญเติบโต เพราะเป็นช่วงที่เด็กจะสูงเร็วที่สุดค่ะ เด็กในช่วงนี้ควรได้รับแคลเซียมสูงถึงประมาณ 1,000 - 1,300 มิลลิกรัม นั่นหมายถึงเจ้าตัวน้อยของเราควรรับประทานนมกล่องมากถึงประมาณ 1 ลิตรต่อวันเลยทีเดียวค่ะ


    ข้อควรระวังในการรับประทานนมกล่องมากเกินไป

    จากหัวข้อก่อนหน้า คุณผู้อ่านก็จะได้ทราบไปแล้วนะคะว่าปริมาณที่เหมาะสมกับการดื่มนมของเจ้าตัวน้อยแต่ละวัยนั้นอยู่ที่ระดับใด หากว่ารับประทานเกินปริมาณที่ควรได้รับ ก็อาจส่งผลเสียต่อไปนี้ได้ค่ะ

  1. เด็กมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ มาจากการที่แก๊สในกระเพาะมีปริมาณที่มากเกินไป💨

  2. มีโอกาสทำให้เด็กรู้สึกอึดอัด🤢 ไม่สบายท้อง อยากอาเจียน

  3. เมื่อเกิดความรู้สึกอึดอัดไม่สบายตัว จะทำให้เด็กร้องไห้งอแง😭 นอนหลับยากขึ้น

  4. อาจส่งผลกระทบต่อการดูดซึมของธาตุเหล็ก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการได้รับแคลเซียมในระดับที่มากเกินไป

  5. มีอาการท้องอืดควบคู่ไปด้วย

  6. ในเด็กบางคนที่คุณพ่อคุณแม่ให้รับประทานน้ำนมแทนน้ำจนติดนิสัย เสี่ยงทำให้ลูกเป็นโรคอ้วนหรือมีภาวะน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐานของวัยได้ เพราะน้ำเปล่าไม่ให้พลังงาน แต่การดื่มนม🥛นั้นให้พลังงานค่ะ

รู้จักกับประเภทของนม เลือกดื่มและเก็บรักษาอย่างถูกวิธี

  1. นมยูเอชที เป็นนมสดที่ผ่านการฆ่าเชื่อด้วยอุณหภูมิอย่างน้อย 133 องศาเซลเซียส🌡️ ซึ่งเป็นระดับอุณหภูมิที่สูงมากพอที่จะฆ่าเชื้อก่อโรคในนมได้ ดังนั้นหากยังไม่เปิดกล่องก็จะสามารถเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องได้นานถึงประมาณครึ่งปีเลยทีเดียว

  2. นมพาสเจอไรซ์ เป็นนมสดที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ🦠ด้วยความร้อนที่อุณหภูมิต่ำลงมา คือ 63 องศาเซลเซียสเป็นระยะเวลาขั้นต่ำ 30 นาที อายุขัยของนมจึงต่ำกว่านมยูเอชที ควรเก็บรักษาไว้ในตู้เย็น และสามารถเก็บรักษาได้ในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์เท่านั้น หากเก็บมานานกว่านั้น แม้กล่องหรือขวดจะยังไม่ถูกเปิดออกก็ไม่ควรดื่มค่ะ

  3. นมสเตอรีไลซ์ เป็นนมสดที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนเช่นกัน ที่อุณหภูมิขั้นต่ำ 100 องศาเซลเซียส นมชนิดนี้จะมีคุณสมบัติคล้ายนมยูเอชทีเนื่องจากผ่านอุณหภูมิที่สูงมากพอที่จะฆ่าเชื้อก่อโรคในนม ทำให้สามารถเก็บรักษาโดยที่ยังไม่เปิดกล่องได้ถึงประมาณ 1 ปีค่ะ⏰

     อ่านมาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านก็จะได้ทราบถึงชนิดและปริมาณสารอาหารที่เจ้าตัวน้อยจะได้รับจากการดื่มนม รวมไปถึงปริมาณที่เหมาะสมในการดื่มนมสำหรับเจ้าตัวน้อยในวัยที่ต่างกัน และประเภทของนมเพื่อการตัดสินใจเก็บรักษาอย่างถูกวิธีไปเรียบร้อยแล้วนะคะ อย่างไรก็ตาม หากสังเกตว่าลูกของเราดื่มนมในปริมาณที่เหมาะสม ภาชนะที่บรรจุนมไม่เสียหาย นมยังไม่หมดอายุ🗓️ แต่มีอาการแปลกๆเกิดขึ้นกับร่างกายหรือรู้สึกไม่สบายตัวไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ควรเข้ารับการตรวจร่างกายเพื่อขอคำปรึกษาจากแพทย์👩‍⚕️ เพราะในบางท่านอาจมีภาวะแพ้น้ำนมได้ค่ะ