post-title

ทำความรู้จักภาวะน้ำคร่ำมาก (Polyhydramnios)

     คุณแม่อาจเคยได้ยินกับภาวะน้ำคร่ำมากมาก่อนกันบ้างใช่ไหมคะ ดังนั้นวันนี้ทางเราจึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับภาวะน้ำคร่ำมากมาให้คุณแม่ทราบ เรามาหาคำตอบกันพร้อมๆกันค่ะ💁‍♀️


ภาวะน้ำคร่ำมาก คืออะไร?

✨ภาวะน้ำคร่ำมาก (Polyhydramnios)

“น้ำคร่ำ” มีบทบาทสำคัญในการตั้งครรภ์อย่างมาก นั่นก็คือ น้ำคร่ำจะทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกัน🛡️ทารกและป้องกันสายสะดือไม่ให้ถูกกด น้ำคร่ำทำให้ทารกมีพื้นที่ในการขยับไปมาเพื่อเสริมสร้างระบบกระดูกและกล้ามเนื้อให้เติบโตได้ปกติ นอกจากนี้ การที่ทารกกลืนน้ำคร่ำยังเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบทางเดินอาหาร การที่ทารกหายใจ น้ำคร่ำก็เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาของปอด🫁อีกด้วย ปกติน้ำคร่ำจะมีปริมาตร 30 ซีซี ที่อายุครรภ์10สัปดาห์ เพิ่มเป็น 200 ซีซีที่ 16 สัปดาห์ และเพิ่มเป็น 800 ซีซีที่ช่วงอายุครรภ์กลางไตรมาสที่สาม จนถึง 40 สัปดาห์ หลังจากนั้นปริมาณน้ำคร่ำจะค่อยๆ ลดลง ซึ่งภาวะน้ำคร่ำมากผิดปกติ พบได้ 1-2% ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด


ภาวะน้ำคร่ำมาก เกิดจากอะไร?

👉6 สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะน้ำคร่ำมาก

  1.  ทารกในครรภ์มีความผิดปกติแต่กำเนิด : ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท🧠 หัวใจ หรือไตที่ผิดปกติ

  2.  มารดาที่ตั้งครรภ์เป็นเบาหวาน

  3.  ทารกครรภ์แฝด👯‍♂️

  4.  ทารกมีภาวะซีด

  5.  ทารกมีภาวะติดเชื้อในครรภ์🦠

  6.  ไม่ทราบสาเหตุ


อาการและวิธีการรักษาภาวะน้ำคร่ำมาก

อาการ

- สตรีมีครรภ์ที่มีภาวะน้ำคร่ำมาก มักมีอาการหายใจลำบาก เหนื่อย😰 นอนราบไม่ได้ ขาบวม บางรายที่มีอาการรุนแรง จะมีปัสสาวะออกน้อย อาจมีการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด หรืออาจเกิดถุงนำคร่ำแตกก่อนกำหนด เกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ตกเลือดหลังคลอด

วิธีการรักษา

- เนื่องจากภาวะน้ำคร่ำมากมีหลายสาเหตุ การรักษาจึงต้องรักษาตามแล้วแต่สาเหตุ หากมีภาวะน้ำคร่ำมากโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน สามารถสังเกตอาการต่อไปได้ แต่หากน้ำคร่ำมาก ทำให้มีภาวะแทรกซ้อน เช่น เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด หรือมารดามีภาวะหายใจลำบาก😮‍💨 อาจต้องมีการเจาะระบายน้ำคร่ำออก เพื่อลดปริมาณน้ำคร่ำค่ะ

      ทราบกันแล้วใช่ไหมคะว่าถึงแม้ภาวะน้ำคร่ำมากผิดปกติจะพบได้น้อยเพียง 1-2%ในคุณแม่ตั้งครรภ์🤰 แต่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งภาวะที่มีความอันตรายต่อทารกภายในครรภ์ ดังนั้นคุณแม่ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติต่างๆที่อาจเกิดขึ้นเสมอนะคะ