post-title

วิธีเตรียมตัวเมื่อต้องพาลูกไปพบคุณหมอ

     เมื่อเจ้าตัวน้อยยังเล็ก การพาลูกไปพบหมออาจจะไม่ยาก เพราะลูกยังเล็ก ไม่งอแงเมื่ออยู่กับคุณหมอ แต่เมื่อลูกโตขึ้น ในช่วงวัย 1 ขวบขึ้นไป ลูกจะเริ่มกลัวหมอกลัวพยาบาล เพราะเริ่มจำได้ว่าทุกครั้งที่มาโรงพยาบาล🏥 เขาจะเจ็บตัวเพราะเข็มฉีดยา จึงร้องไห้ งอแง อาละวาด ทำให้การพาลูกไปพบหมอมีอุปสรรคได้ ดังนั้นบทความนี้จึงได้รวบรวมวิธีเตรียมตัวเมื่อคุณแม่ต้องหาเจ้าตัวน้อยไปพบคุณหมอ และสิ่งของใดบ้างที่ควรพกติดตัวไปด้วย เรามาหาคำตอบไปพร้อมๆกันเลยค่ะ💁‍♀️


สิ่งที่ควรเตรียมเมื่อต้องพาลูกไปหาหมอ

✨เตรียมความพร้อมของลูก 
อย่างที่กล่าวว่าเด็กช่วงวัย 1 ขวบขึ้นไป เริ่มกลัวหมอกลัวพยาบาล เพราะเริ่มจำได้ว่าทุกครั้งที่มาโรงพยาบาล เขาจะเจ็บตัวเพราะเข็มฉีดยา💉 หรือโดนคุณหมอจับเนื้อจับตัว เอาเครื่องมือตรวจหู จมูก ยิ่งมีไม้กดลิ้นยิ่งไม่ชอบ ทำให้ลูกร้องไห้ ดิ้นรน ปัดป่าย คุณหมอจึงตรวจได้ลำบาก ต้องช่วยกันจับตัวลูก ยิ่งทำให้ลูกรู้สึกกลัวมากขึ้น ครั้นเมื่อลูกร้องไห้มาก คุณแม่ก็ต้องรีบออกจากห้องตรวจเพื่อให้ลูกหยุดร้อง ทำให้ไม่ได้รับคำแนะนำจากหมออย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่มีโอกาสซักถามข้อสงสัยอย่างอื่นเพิ่มเติม
ดังนั้นขณะอยู่บ้าน คุณแม่ลองฝึกซ้อมให้ลูกได้เล่นเลียนแบบเป็นคุณหมอ🥼 อ่านหนังสือการ์ตูนที่เกี่ยวกับการไปพบหมอให้ลูกฟัง เพื่อให้ลูกได้คุ้นเคยหรือคาดเดาได้ว่าคุณหมอจะตรวจอะไร ต้องทำตัวอย่างไรบ้าง เป็นต้น

เตรียมเวลา
เวลาที่เหมาะสมในการพาลูกไปพบคุณหมอ โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่ฉุกเฉิน ไม่ควรเป็นเวลานอนกลางวันของลูก หรือเป็นเวลาที่ลูกเหนื่อยหรือหิว หากคุณแม่มีนัดกับคุณหมอ การตรงต่อเวลา🕓จะช่วยให้คุณแม่ไม่ต้องเสียเวลารอคอย เพราะการรอคอยนานๆ พร้อมกับเด็กที่กำลังป่วยหรือไม่ป่วยแต่ซน อยู่ไม่นิ่ง ไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก และหากไม่สามารถมาตามนัด ควรแจ้งเลื่อนนัดอย่างน้อย 1 วัน

เตรียมเสื้อผ้าและของเล่น
หากไม่ใช่การพาลูกไปหาหมอแบบกะทันกัน คุณแม่ควรให้ลูกสวมเสื้อผ้าที่สะดวกต่อการถอดและสวมใส่👕 เพราะคุณหมออาจจะต้องตรวจดูร่างกายลูกอย่างละเอียด ฉะนั้นชุดติดกัน หรือชุดที่ถอดยากใส่ยาก คงไม่สะดวกทั้งกับหมอและตัวลูกเอง
อีกทั้ง คุณแม่อาจเตรียมอาหาร นม อาหารว่าง หรือของเล่น🪀เพื่อไม่ให้ลูกร้องไห้งอแงจากการต้องรอคิวตรวจ การเตรียมของเล่นไปเอง อาจช่วยให้ลูกไม่ต้องจับของเล่นส่วนกลางซึ่งอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อน

เตรียมข้อมูลอาการของลูก
การบอกอาการหรือตอบคำถามของคุณหมอถึงอาการลูกนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรตอบให้ตรงประเด็นและกระชับที่สุด ไม่วกไปวนมา ซึ่งการตอบให้ตรงคำถามนั้นมาจากการที่คุณพ่อคุณแม่สังเกตอาการป่วยของลูกระหว่างที่ลูกเกิดการเจ็บป่วย ไม่สบาย😷 ไม่ว่าเรื่องอาหารการกิน การนอน ความเป็นอยู่ต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการวินิจฉัย ประมวลผลของคุณหมอ 

เตรียมสมุดสุขภาพ

สมุดสุขภาพ📕 สมุดฉีดวัคซีนของลูกนั้นถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่คุณแม่ห้ามลืมเด็ดขาด และควรพกติดตัวมาที่โรงพยาบาลด้วยทุกครั้ง เพื่อที่คุณหมอจะได้ทราบว่าเจ้าตัวน้อยได้รับวัคซีน หรือมีประวัติการป่วยอะไรมาบ้าง เพราะข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้คุณหมอวินิจฉัยโรคได้แม่นยำขึ้น


และรวมไปถึงสิ่งเหล่านี้อีกด้วย

เข้าใจในตัวของลูก
กรณีที่ลูกร้องไห้ตั้งแต่หน้าประตูห้องตรวจ คุณแม่มักจะกังวลเพราะเกรงใจคุณหมอ แต่คุณหมอเด็กส่วนใหญ่จะเข้าใจถึงการร้องไห้ของเด็ก คุณพ่อคุณแม่ควรอุ้มหรือกอด🤗ลูกไว้แล้วอยู่ในอาการที่สงบ เพราะถ้าคุณแม่กระสับกระส่ายหรือโวยวายเสียเอง ลูกจะรู้สึกถึงความกังวลใจและรู้สึกไม่มั่นคงและยิ่งทำให้ร้องไห้หนักขึ้น แต่หากลูกร้องไห้ไม่ยอมให้ตรวจ อาจจะให้คุณพ่อหรือคนที่ไปด้วยอุ้มลูกออกนอกห้องตรวจก่อน เพื่อให้คุณแม่ฟังคำอธิบายอาการและวิธีการดูแลลูกที่บ้านอย่างละเอียด
หากที่บ้านมีคนดูแลเด็กมากกว่า 1คน ควรเข้ามารับฟังวิธีการดูแลลูกที่บ้านพร้อมเพรียงกัน โดยเฉพาะพี่เลี้ยงเด็กหรือคุณย่าคุณยายที่เป็นคนดูแลหลาน

ปิดโทรศัพท์ก่อนพบคุณหมอ
คุณแม่ควรปิดโทรศัพท์📱ให้เรียบร้อยก่อนเข้าห้องตรวจ เพราะในขณะที่กำลังมีสมาธิในการฟังคำอธิบายของคุณหมออยู่ ถ้าเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น การสนทนาก็จะขาดตอนทันที ทำให้ตัวคุณพ่อคุณแม่เองขาดสมาธิ แล้วการรับข้อมูลจากคุณหมออาจจะไม่ครบถ้วนไม่ต่อเนื่องได้

     ทราบกันแล้วใช่ไหมคะว่าหากคุณแม่ได้เตรียมตัวก่อนพาลูกไปพบหมอ👩‍⚕️ จะทำให้ใช้เวลาที่ได้พบคุณหมออย่างคุ้มค่า ได้สอบถามรายละเอียดของโรคและวิธีการดูแลอย่างละเอียด เพราะความเข้าใจที่ถูกต้องนำมาซึ่งการดูแลที่ถูกต้องด้วยค่ะ