post-title

สาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยนอนสะดุ้ง เกิดอาการกระตุกขณะนอนหลับ

     คุณแม่อาจสังเกตได้ในขณะที่เจ้าตัวเล็กกำลังนอนหลับปุ๋ยอย่างมีความสุข😴 บางครั้งลูกมีอาการนอนสะดุ้ง หรือกระตุกตัวขึ้น อาการเช่นนี้คืออาการอะไร เรามาหาคำตอบไปพร้อมๆกันเลยค่ะ💁‍♀️


เมื่อลูกนอนสะดุ้ง ถือว่าเป็นอาการผิดปกติหรือไม่ และมีสาเหตุมาจากอะไร?

หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีอาการกระตุกขณะนอนหลับ หรือพบว่าลูกนอนผวา ไม่ต้องตกใจไปนะคะ นั่นเป็นอาการปกติของร่างกายที่มีการตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ที่กระทบกับทารก เช่น แสง เสียง🔉 ซึ่งถือว่าเกิดขึ้นได้ทั่วไป ไม่ส่งผลต่อการเรียนรู้หรือพัฒนาการ

👉อาการทารกนอนกระตุกนั้น อาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ระบบประสาท🧠ของทารกยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ทำให้ระบบการส่งสัญญาณต่าง ๆ ของสมองไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทำได้ไม่เต็มที่ จนมีการตอบสนองเป็นการกระตุกให้เห็น 

  • อาจเป็นเพียงการเคลื่อนไหวของทารกในตอนนอน ขณะทารกนอนหลับ😴อาจจะมีการเคลื่อนไหวที่แปลกตาไปบ้าง แต่นั่นก็สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะบ่อยครั้งเวลาที่ผู้ใหญ่นอนหลับ ก็มักจะมีการเปลี่ยนท่าทางต่าง ๆ โดยไม่รู้ตัวเหมือนกัน 

  • ปฏิกิริยาตอบสนองขณะนอนหลับ บางครั้งอาจมีแสงสว่างส่อง💡 หรือมีเสียงดังเกิดขึ้น กระบวนการตอบสนองทางร่างกายของทารกจึงอาจแสดงออกมาเป็นการกระตุกได้ 

  • ได้รับคาเฟอีนจากน้ำนมแม่🍼 คุณแม่ให้นมลูกที่กินอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง บางครั้งอาจสะสมจนสามารถส่งต่อไปยังลูกผ่านนมแม่ได้ คาเฟอีนจะมีผลต่อการนอนหลับของทารก และยังอาจส่งผลให้ทารกมีอาการนอนสะดุ้งได้ด้วย 

  • ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ อาการกระตุก หรืออาการสั่น อาจเป็นหนึ่งในสัญญาณแรก ๆ ของอาการระดับน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่าทารกอาจมีปัญหาสุขภาพ เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด🩸

  • โซเดียมต่ำ การขาดโซเดียม สามารถส่งผลให้ร่างกายมีอาการกระตุกได้ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากคุณแม่กินอาหารที่มีโซเดียมน้อย ทำให้ทารกมีโซเดียมในร่างกายไม่เพียงพอ 


วิธีรับมือเมื่อลูกนอนสะดุ้ง

คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีแก้อาการนอนผวาของลูกได้ง่าย ๆ คือ 

  • เวลาวางลูกลงบนที่นอน🛌ให้ค่อย ๆ วางลูกลงเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกรู้สึกว่าโล่งบริเวณหลัง และทำให้เกิดการผวาได้

  • เมื่อลูกมีอาการนอนสะดุ้ง ให้ค่อย ๆ อุ้มลูกขึ้นมาแนบกับอก🤱 แล้วลูบปลอบโยนเบา ๆ เมื่อลูกสงบลงแล้ว จึงนำลูกวางบนเบาะหรือเปล แล้วกล่อมให้หลับต่อไป 

  • ห่อตัวทารกด้วยผ้า เพื่อให้ลูกนอนหลับได้สนิท💤 และสบายตัวมากขึ้น การห่อผ้าช่วยให้ทารกรู้สึกสบายตัวเหมือนกำลังนอนหลับอยู่ในท้องแม่อีกครั้ง 

  • ดูแลบริเวณห้องนอนของทารกให้มีบรรยากาศที่เงียบสงบ🌃 อุณหภูมิเหมาะสม และไม่มีแสงจ้าตกกระทบ 

  • กอดลูกเบา ๆ เพื่อให้ลูกรับรู้ถึงอ้อมกอดที่อบอุ่น🤗 โดบสังเกตว่าลูกมักจะมีอาการผวาช่วงไหน และคอยกอดลูกเมื่อถึงช่วงเวลาดังกล่าว

✨ท่านอนหงายสามารถช่วยลดอาการนอนสะดุ้งได้

เพราะท่านอนหงายจะช่วยให้ทางเดินหายใจเปิดโล่ง😮‍💨 ทารกสามารถรับออกซิเจนได้อย่างเต็มที่ การนอนคว่ำ หรือนอนตะแคง อาจเสี่ยงที่ทารกจะได้รับออกซิเจนน้อย หรืออาจนำไปสู่ปัญหาการหายใจไม่ออก หายใจไม่สะดวก เสี่ยงต่อโรคไหลตายในเด็ก ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิดค่ะ 

     สรุปได้ว่าวิธีแก้อาการนอนผวาที่ดีที่สุดอีกวิธีหนึ่งก็คือ การสังเกต👀ดูว่าลูกมีอาการนอนกระตุก หรือนอนสะดุ้งบ่อยแค่ไหน หากลูกเป็นเช่นนั้นบ่อย ๆ ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์👩‍⚕️เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยว่าอาการนอนสะดุ้งของลูกนั้น เป็นความผิดปกติทางร่างกายหรือไม่ หรือเป็นเพียงการตอบสนองของระบบประสาทและร่างกายตามปกติ