post-title

การตรวจภายในระหว่างตั้งครรภ์! ต้องตรวจอะไรบ้าง?

     การตรวจภายในเป็นการตรวจสุขภาพสำหรับสตรีที่ตั้งครรภ์ วันนี้ทางเราจะพาคุณแม่ไปทำความรู้จักกับการตรวจภายใน ตั้งแต่วิธีการตรวจ ขั้นตอน การเตรียมตัว เพื่อช่วยให้คุณแม่คลายกังวลเมื่อต้องเข้ารับการตรวจภายใน ไปหาคำตอบพร้อมๆกันเลยค่ะ💁‍♀️


การตรวจภายใน คืออะไร?

🩺 การตรวจภายใน (Pelvic exam) 

คือ การตรวจหาความผิดปกติอวัยวะในอุ้งเชิงกรานของสตรี ทั้งภายนอกและภายใน รวมถึงอวัยวะข้างเคียง โดยเรียงจากข้างนอกเข้าไปข้างใน ได้แก่ ปากช่องคลอด ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก ปีกมดลูก และรังไข่  เป็นการตรวจเพื่อประเมินสุขภาพของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง🚺 ช่วยคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และค้นหาสาเหตุของความผิดปกติของโรคทางนรีเวช การตรวจภายในสามารถรู้ผลได้ทันทีหลังตรวจ โดยแพทย์จะเป็นผู้อธิบายผลด้วยตนเอง และแนะนำการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม

เป็นการตรวจหาโรคทางนรีเวช เช่น เนื้องอกในมดลูก ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate cyst) ถุงน้ำในรังไข่ (Cystic Ovary) หรือช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นโรคที่ในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ กว่าจะรู้ตัว โรคเหล่านี้ก็อาจเข้าสู่ระยะรุนแรง และอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด รวมไปถึงโรคที่น่ากังวลอีกหนึ่งโรค นั่นก็คือ “โรคมะเร็งปากมดลูก” ซึ่งเป็นชนิดของมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงไทย🇹🇭 โดยพบผู้ป่วยรายใหม่ 10,000 คนต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 27 คน และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก 5,200 คนต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 14 คน

✨ การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจภายใน

 - ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด เพราะจะทำให้สิ่งที่ต้องการตรวจหายไป โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการตกขาวผิดปกติ

ไม่สอดยาหรือเหน็บยาใดๆ เข้าไปในช่องคลอดก่อนเข้ารับการตรวจ อย่างน้อย 3 วัน เพราะอาจทำให้ผลตรวจคลาดเคลื่อนได้

งดมีเพศสัมพันธ์ อย่างน้อย 3 วัน เพื่อให้ได้ผลตรวจที่ชัดเจน

ไม่ควรตรวจขณะมีประจำเดือน🩸 เพราะเสี่ยงทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย ยกเว้นมีประจำเดือนมากผิดปกติ มีประจำเดือนนานผิดปกติ หรือปวดท้องมากขณะมีประจำเดือน สามารถเข้าตรวจภายในได้ทันที

ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ง่ายต่อการเปลี่ยนชุด👗 และปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเข้ารับการตรวจ

ไม่ต้องโกนขนก่อนเข้ารับการตรวจภายใน🪒

ไม่ต้องงดน้ำและอาหารก่อนเข้ารับการตรวจภายใน


ขั้นตอนการตรวจภายในเป็นอย่างไร?

การตรวจภายในจะทำหลังจากที่แพทย์ซักประวัติสุขภาพเรียบร้อยแล้ว เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการวินิจฉัย 

👉 โดยมี 5 ขั้นตอนหลักๆดังต่อไปนี้

1. แพทย์จะตรวจดูอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกและช่องคลอดด้วยตาเปล่าก่อน โดยจะตรวจหาการระคายเคือง รอยแดง แผล บวม หรือความผิดปกติอื่นๆ

2. แพทย์จะใช้เครื่องมือถ่างขยายช่องคลอด หรือที่เรียกว่า “คีมปากเป็ด” (Vaginal Speculum) ถ่างขยายปากช่องคลอด และใช้ไฟฉาย🔦ส่องดูปากมดลูกและผนังช่องคลอด

3. หลังจากนั้นจะนำเครื่องมือออก แล้วใช้นิ้วมือ👆สอดเข้าไปตรวจช่องคลอด คลำปากมดลูก รอบๆ คอปากมดลูก ตัวมดลูก ปีกมดลูก รังไข่ และใช้มืออีกข้างคลำหน้าท้องดูด้วย

4. หากตรวจหามะเร็งปากมดลูก หรือที่เรียกว่า “ตรวจแปปสเมียร์” (Pap Smear) ร่วมด้วย แพทย์จะใช้เครื่องมือเก็บเซลล์บริเวณปากมดลูกไปส่งตรวจในห้องปฏิบัติการณ์👩‍🔬

5. หากตรวจอัลตราซาวด์ช่องคลอดร่วมด้วย แพทย์จะสอดอุปกรณ์เข้าไปทางช่องคลอด ซึ่งจะแสดงผลผ่านทางจอมอนิเตอร์🖥️ ช่วยให้แพทย์มองเห็นมดลูกและรังไข่ได้ชัดเจนขึ้นกว่าเดิม


หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับการตรวจภายในเมื่อไร?

👉 ภายในช่วง 1-2 เดือนแรกหลังตั้งครรภ์

โดยปกติแล้วแพทย์แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ตรวจภายในในช่วง 1-2 เดือนแรกหลังตั้งครรภ์🤰 เพื่อตรวจพยาธิสภาพบริเวณปากมดลูก มดลูก และรังไข่ คัดกรองความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ และตรวจยืนยันการตั้งครรภ์ในหรือนอกมดลูก ซึ่งไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์

     สรุปได้ว่าการตรวจภายในนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนไม่ควรละเลย✅ เพราะเป็นการตรวจที่ไม่เจ็บ ไม่น่ากลัว ใช้ระยะเวลาตรวจไม่นาน ประมาณ 15-30 นาที ก็จะช่วยให้คุณแม่รู้สุขภาพของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน รู้เท่าทันโรคทางนรีเวชที่อาจเกิดขึ้นได้ และเตรียมรับมือได้อย่างทันท่วงทีนั่นเองค่ะ