post-title

อันตรายจากท่านั่ง W sitting ส่งผลต่อกระดูกของลูก!

     คุณพ่อคุณแม่ต่างก็ดีใจเมื่อเห็นเจ้าตัวน้อยเริ่มหัดทรงตัวได้ แบบไม่โอนเอนและไม่ล้ม เย้~ ในที่สุดลูกก็สามารถจะประคองตัวเองนั่งโดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องคอยประคองเพราะกลัวว่าลูกจะเอนจนล้มแล้ว แต่อย่างไรก็ตามโปรดดูให้ดีก่อนว่าเจ้าตัวน้อยกำลังนั่งในท่านั่ง W Sitting อยู่หรือเปล่า เพราะท่านี้อันตรายต่อลูกมากกว่าที่คุณแม่คิด เรามาหาคำตอบไปพร้อมๆกันเลยค่ะ💁‍♀️


ท่านั่ง W Sitting คืออะไร?

👉ท่านั่ง W Sitting หรือ “นั่งท่าเป็ด”

คือท่านั่งที่ลูกเอาก้นลงกับพื้น แต่งอเข่า และขาข้างซ้ายและข้างขวาแบะออกข้าง ๆ ลักษณะคล้ายกับตัว W 🧎‍♀️ซึ่งท่านั่งนี้พบได้บ่อยในเด็ก ๆ เนื่องจากเวลาที่เด็กนั่งในท่านั่ง W Sitting จะดูเหมือนว่าลูกนั่งได้มั่นคงขึ้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องคอยประคองตลอดเวลาเพราะกลัวว่าลูกจะเซและล้ม แต่การนั่ง W Sitting นี้ ควรนั่งเป็นครั้งคราว นาน ๆ นั่งที หรือนั่งแล้วก็เปลี่ยนท่านั่ง นั่งแล้วก็ลุกออกไปทำอย่างอื่น จึงจะถือว่าไม่อันตราย และไม่ส่งผลเสียใด ๆ ค่ะ 


ผลเสียของการนั่งท่านั่ง W Sitting 

👉จะทำให้เด็กมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวที่อิสระลดลง

เนื่องจากท่านี้จะไปจำกัดการเคลื่อนไหวไปทางซ้ายขวา เพราะปกติแล้วหากอยู่ในท่านั่งปกติ เช่น ท่าขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ แม้ของจะอยู่ทางซ้าย แต่ลูกก็อาจจะเอื้อมไปหยิบด้วยมือขวาได้ อย่างไรก็ตาม ท่านั่ง W Sitiing นั้น ทารกไม่สามารถใช้มืออีกข้างเอื้อมหยิบของได้อย่างถนัด ทำให้เด็กเอื้อมมือไปหยิบสิ่งต่าง ๆ ที่ไกลตัวได้ยาก ถ้าเด็กนั่งในท่านี้เป็นเวลานาน ๆ เป็นประจำ โดยไม่ยอมเปลี่ยนไปนั่งในท่าอื่น ๆ บ้างเลย กรณีเช่นนี้ถือว่าค่อนข้างน่าเป็นกังวลค่ะ😰 เพราะทั้งแพทย์และผู้เชี่ยวชาญต่างก็มองว่าจะมทำให้เด็กเกิดปัญหา ดังนี้

- ท่านั่ง W Sitting เป็นท่านั่งที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคทางออร์โธปิดิกส์ หรือการผิดรูปของกระดูก🩻 ข้อ และเอ็น 

- เสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้า (Anterior Cruciate Ligament หรือ ACL) ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นเอ็นหลักบริเวณหัวเข่า🧎‍♀️ ช่วยให้ข้อเข่าสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างมั่นคง การนั่งในท่า W นาน ๆ อาจทำให้เอ็นไขว้หน้าเสียหาย บาดเจ็บ หรืออักเสบได้ 

- หากเด็กนั่งในท่า W ติดต่อกันนาน ๆ จะทำให้ขาอ่อนแรงได้ เพราะต้องรองรับการทรงตัวโดยไม่ได้มีการเคลื่อนไหวใด ๆ 

- เสี่ยงที่จะทำให้สะโพกเคลื่อน หรือผิดรูป เนื่องจากเป็นท่านั่งที่ทำให้สะโพกถูกดันออกจากเบ้าสะโพก 

- เมื่อนั่งในท่านั่ง W เป็นเวลานาน ๆ เสี่ยงที่จะทำให้กล้ามเนื้อขา🦵และสะโพกตึงได้ เพราะกล้ามเนื้อไม่เกิดการเคลื่อนไหวตามปกติที่ควรจะเป็น 

- ท่านั่ง W Sitting อาจขัดขวางพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวอื่น ๆ เช่น การเอื้อม หรือการเคลื่อนไหวไปทางซ้ายและทางขวา เพราะท่านั่งไม่ส่งเสริมให้เด็กสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ 

✨วิธีปรับพฤติกรรมหากพบว่าลูกชอบนั่งท่า W Sitting

หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นแล้วว่า ลูกของเรานั้นชอบนั่งในท่านนั่ง W บ่อย ๆ ควรเร่งปรับพฤติกรรมของลูกทันที โดยสามารถทำได้ ดังนี้

  • หากพบว่าลูกกำลังนั่งท่า W ให้บอกหรือเตือนลูกดี ๆ เพื่อเปลี่ยนนั่งท่าใหม่ โดยไม่ดุ🤫 หรือขึ้นเสียง แต่พูดโดยไม่ให้เด็กรู้สึกแย่ เช่น ลูกจ๋า ลองนั่งท่านี้ดูไหม บ่อยเข้าเด็กก็จะเริ่มจดจำไปเองว่าควรนั่งในท่าใด

  • พยายามนั่งเล่นกับลูกบ่อย ๆ แล้วนั่งให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง โดยอาจจะนั่งในท่าที่เหยียดขาไปด้านหน้า นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบ🧘‍♂️

  • เข้าไปนั่งเล่นกับลูก พยายามให้ลูกได้มีการเปลี่ยนท่าทาง และเคลื่อนไหว เช่น ให้ลูกเอื้อมหยิบของที่อยู่ไกลตัวบ้าง หรืออยู่สูงบ้าง เพื่อกระตุ้นให้เด็กได้ออกแรงใช้กล้ามเนื้อมากขึ้น

  • ให้ลูกได้นั่งเก้าอี้ หรือโซฟาของเด็กดูบ้าง เพื่อเปลี่ยนอริยาบถการนั่งใหม่ ๆ ทั้งยังช่วยผ่อนคลายไม่ให้ขารับน้ำหนักจากการนั่งท่าเดิมนาน ๆ

     ทราบกันแล้วใช่ไหมคะถึงผลเสียของการนั่งท่า W Sitting เป็นเวลานาน ดังนั้นคุณแม่ควรหมั่นสังเกต👀และคอยบอกลูกให้นั่งได้เป็นครั้งคราว นาน ๆ นั่งที หรือนั่งแล้วก็เปลี่ยนท่านั่ง นั่งแล้วก็ลุกออกไปทำอย่างอื่นบ้างค่ะ