post-title

เพศของทารกภายในครรภ์มีผลต่อภูมิคุ้มกันของแม่จริงไหม?

     คุณผู้อ่านหลายๆท่านคงเคยได้ยินผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง กับความเชื่อที่ว่า อาการแพ้ท้อง ไลฟ์สไตล์ระหว่างที่อุ้มครรภ์ หรือลักษณะปัสสาวะของคุณแม่นั้น สามารถบ่งบอกให้ทราบถึงเพศของเจ้าตัวน้อยในครรภ์ได้ ซึ่งอันที่จริงแล้วความเชื่อนี้ยังเป็นเพียงความเชื่อที่ไม่มีหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือพิสูจน์ได้มากพอมารองรับ👩‍🔬 แต่ที่น่าสนใจคือไม่นานมานี้มีงานวิจัยได้บ่งบอกว่าเพศของทารกในครรภ์นั้นสามารถส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของคุณแม่ได้ งานวิจัยนี้พยายามจะบอกอะไรบ้าง เราไปดูพร้อมๆกันเลยค่ะ💁‍♀️


อัตราการเผาผลาญพลังงานของทารกในครรภ์

  1. งานวิจัยชิ้นนี้บ่งบอกว่าทารกเพศชายมีแนวโน้มที่จะเจริญเติบโตในครรภ์ได้เร็วมากกว่าทารกเพศหญิง ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ขนาดร่างกายของเจ้าตัวน้อยแต่รวมถึงขนาดของรกคุณแม่ ซึ่งเปรียบเสมือนตัวกลางหรือเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนสารอาหารและของเสียระหว่างคุณแม่และทารกในครรภ์ระหว่างตั้งครรภ์อีกด้วย การเจริญเติบโตที่รวดเร็วกว่านี้ทำให้เราพอจะบ่งชี้ได้ว่า ทารกเพศชาย👦มีอัตราการเผาผลาญสารอาหารจากร่างกายคุณแม่ได้เร็วกว่าทารกเพศหญิงเช่นกัน

  2. หากจับใจความจากผลงานวิจัยด้านบน ก็อาจทำให้เราสามารถคาดเดาต่อแบบง่ายๆได้ว่า หากทารกมีอัตราการเผาผลาญพลังงานที่มากขึ้น นั่นอาจทำให้คุณแม่ต้องการสารอาหารที่มากขึ้นด้วย นี่อาจไม่ใช่สิ่งที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันของคุณแม่โดยตรง🤰 แต่หากร่างกายของคุณแม่ต้องการสารอาหารที่มากขึ้นแต่คุณแม่ไม่รู้ตัว ก็อาจทำให้คุณแม่และทารกมีภาวะขาดสารอาหารได้

  3. ฟังดูเป็นข้อดีที่เด็กในครรภ์เผาผลาญสารอาหารได้ดีใช่ไหมคะ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้บอกเราให้เข้าใจได้ง่ายๆว่า แม้ทารกเพศชายจะมุ่งเน้นไปที่การเจริญเติบโตที่มากกว่าเพศหญิง แต่ทารกเพศหญิงในครรภ์มีแนวโน้มที่จะมุ่งเน้นไปที่การปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมในมดลูกของคุณแม่มากกว่า หากสิ่งแวดล้อมในมดลูกของคุณแม่เปลี่ยนไป หรือเกิดภาวะต่างๆที่ผิดปกติระหว่างการตั้งครรภ์ ทารกเพศหญิงมีแนวโน้มจะปรับตัวได้ดีกว่า ส่วนทารกเพศชายมีแนวโน้มจะเปราะบางมากกว่าค่ะ ซึ่งการที่สุขภาพของทารกมีความเปราะบาง ก็อาจส่งผลเชิงลบต่อระบบภูมิคุ้มกัน🛡️ของคุณแม่ได้เช่นเดียวกันค่ะ


    เพศของทารกต่อการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน

  4. เพศของทารกในครรภ์นั้นส่งผลต่อการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของคุณแม่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ค่อนข้างชัดเจน สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เป็นทารกเพศชายนั้น มีแนวโน้มที่จะหลั่งสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้และการอักเสบสูง ในขณะที่คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ทารกเพศหญิงนั้นมีแนวโน้มที่จะหลั่งสารเหล่านี้ในรูปแบบที่ควบคุมได้มากกว่า หากจะสรุปง่ายๆก็คือ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์เป็นทารกเพศชาย👦มีแนวโน้มที่ระบบภูมิคุ้มกันของตัวเองจะตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมรุนแรงกว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เป็นทารกเพศหญิงนั่นเองค่ะ

  5. อิงจากที่งานวิจัยได้กล่าวมาแล้ว การที่ทารกในครรภ์นั้นส่งผลต่างๆต่อระบบภูมิคุ้มกันของคุณแม่ได้ ทำให้ระบบอวัยวะอื่นๆในร่างกายของคุณแม่เองเกิดการปรับตัวขึ้นเช่นเดียวกัน แน่นอนว่าการที่ระบบอวัยวะของคนเราเริ่มเกิดการปรับตัว ก็มักจะส่งผลออกมาในรูปแบบที่ต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสามารถในการดูดซึมสารอาหาร ความเครียดของร่างกาย ความอ่อนไหวต่อการติดเชื้อก่อโรค🦠ที่มาจากสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้เองล้วนส่งผลต่อภาวะทางสุขภาพของคุณแม่ในระยะยาวได้ค่ะ

    แม้จะมีหลักฐานซึ่งก็คือผลการทดลองหรือผลมางานวิจัยมาสนับสนุนสมมุติฐานที่ว่า เพศของเจ้าตัวน้อยในครรภ์ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของแม่ได้ แต่ทางทีมผู้วิจัยก็ยังคงไม่สามารถหากลไกที่แน่นอนของสารชีวโมเลกุลต่างๆในร่างกายของทั้งคุณแม่และเด็ก ซึ่งนำมาถึงผลการทดลองเช่นนี้ได้อย่างชัดเจน อีกทั้งงานวิจัยชิ้นนี้ยังมีบางส่วนที่ทำการทดลองกับสัตว์ทดลอง ไม่ใช่มนุษย์ จึงมีโอกาสเกิดความคลาดเคลื่อนของผลการทดลองได้ และแม้บางส่วนจะเป็นการเก็บข้อมูลจากมนุษย์จริงๆ แต่ก็เป็นเพียงการเก็บข้อมูลจากการสำรวจ📊 หรือจากการอ้างอิงข้อมูลเก่าๆจากงานวิจัยก่อนหน้าเท่านั้น เนื่องจากเหตุผลทางด้านจริยธรรมการทดลอง สมมุติฐานดังกล่าวจึงถือว่ายังไม่เป็นที่ยอมรับอย่างเต็มที่ในวงการวิทยาศาสตร์นั่นเองค่ะ