post-title

ทารกแรกเกิดเริ่มมองเห็นได้ตอนไหน?

     โดยปกติแล้ว เจ้าตัวน้อยในครรภ์จะยังไม่สามารถมองเห็นอย่างชัดเจนได้ทันทีที่ออกมาจากครรภ์ของคุณแม่ ต้องใช้เวลาเล็กน้อยในการปรับตัวและพัฒนาสายตา แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กๆควรที่จะมองเห็นได้อย่างชัดเจนตอนไหน เราจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกน้อยของเรามีพัฒนาการทางด้านการมองเห็นสมวัยหรือไม่ เสี่ยงที่จะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับสายตาหรือไม่ บทความนี้มีคำตอบให้คุณผู้อ่านค่ะ💁‍♀️


ทารกเริ่มมองเห็นได้ตอนอายุเท่าไร?

👉ทารกอายุประมาณ 4 สัปดาห์ (1 เดือน)

ในช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงที่ทารกยังมองเห็นได้ไม่ชัดเจนมากนัก ถึงดวงตาจะสามารถรับแสงและประมวลเป็นภาพได้แล้วก็ตาม และจะมองเห็นเพียงระยะใกล้ๆ ประมาณ 20-40 เซนติเมตรหรือระยะสายตาประมาณ 1 ไม้บรรทัดยาวเพียงเท่านั้น ภาพที่รับได้ก็จะเป็นโทนภาพสีขาวดำเทา เป็นช่วงที่ผู้ปกครองอาจสังเกตได้ว่าเจ้าตัวน้อยของเราอาจมีอาการตาเหล่ เนื่องจากการทำงานของดวงตาทั้งสองข้างอาจยังไม่สัมพันธ์กันมากนัก ถึงแม้ดวงตา👁️จะยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเหมือนวัยผู้ใหญ่ แต่เนื่องจากดวงตาสามารถรับภาพได้แล้ว จึงเป็นช่วงที่ทารกจะสามารถจดจำคนที่อยู่ใกล้ๆในระยะสายตาที่มองเห็นบ่อยๆได้ นั่นก็คือคุณแม่ที่คอยป้อนน้ำนมนั่นเองค่ะ🤱

👉ทารกอายุประมาณ 8 สัปดาห์ (2 เดือน)

ในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เจ้าตัวน้อยมีพัฒนาการทางด้านสายตาที่ดีขึ้น สามารถกลอกตามองสิ่งที่เคลื่อนไหวไปมาได้คล่องแคล่วมากขึ้น ทำให้เริ่มมีความสนใจในสิ่งรอบตัวมากขึ้น อีกทั้งช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่ทารกจะสามารถผลิตน้ำตาเพื่อใช้ในการหล่อเลี้ยงดวงตาได้แล้วอีกด้วยค่ะ นอกจากนี้ในช่วงนี้ ตาของทารกจะเริ่มมีความไวต่อแสงค่ะ☀️

👉ทารกอายุประมาณ 12 สัปดาห์ (3 เดือน)

เป็นช่วงที่ทารกเริ่มรับรู้ถึงระยะใกล้-ไกลของภาพ เริ่มมองเห็นภาพเป็นสีสัน ไม่ใช่เพียงสีขาวดำอีกต่อไป แต่สีที่รับรู้ได้ดีก็ยังเป็นเพียงแม่สี อันได้แก่ สีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน เนื่องจากสามารถเก็บรายละเอียดภาพได้ชัดเจนมากขึ้น ทำให้เจ้าตัวน้อยของเราจดจำใบหน้าของผู้ที่พบเห็นได้มากขึ้น เริ่มสนใจที่จะสังเกตสีหน้าและแววตาของคนที่มีปฏิสัมพันธ์ด้วย👀

👉ทารกอายุประมาณ 16 สัปดาห์ (4 เดือน)

แน่นอนว่าพัฒนาการทางสายตาของเจ้าตัวน้อยก็ยังดำเนินไปอย่างดีขึ้นเรื่อยๆเป็นปกติ แต่ที่สังเกตได้ชัดเจน ในช่วงนี้ทารกควรจะเริ่มหายจากจากอาการตาเหล่หรือตาเขได้แล้ว พูดง่ายๆคือดวงตาทั้งสองข้างควรทำงานสอดประสานกันเป็นปกติแล้วนั่นเอง และช่วงนี้ความสามารถในการมองเห็นของทารกจะใกล้เคียงกับวัยผู้ใหญ่แล้ว ไม่ว่าความสามารถในการมองภาพและแยกแยะสีสันได้🖼️ แยกระยะใกล้-ไกลได้ชัดเจน นอกจากนี้ระบบประสาทอัตโนมัติยังทำหน้าที่ ซึ่งก็คือการตอบสนองต่อแสงจ้าได้ดีมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อทารกเห็นแสงจ้าๆก็จะกะพริบตาโดยอัตโนมัตินั่นเอง

👉ทารกอายุประมาณ 24 สัปดาห์ (6 เดือน) ถึง 1 ขวบปี (12 เดือน)

เป็นช่วงที่ทารกมีพัฒนาการการมองเห็นที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบแล้ว ดวงตาทั้งสองข้าซ้ายขวาทำงานสอดประสานกัน โดยปกติแล้วไม่ควรมีภาวะตาเหล่หรือตาเขหลงเหลืออยู่อีก เนื่องจากเป็นช่วงที่พัฒนาการทางด้านสายตานั้นค่อนข้างเต็มที่ ทำให้พัฒนาการทางร่างกายในด้านอื่นๆดีขึ้นอย่างประสานกันด้วย ยกตัวอย่างเช่นพัฒนาการทางด้านการเคลื่อนไหว การที่เด็กสามารถแยกระยะใกล้-ไกลของวัตถุตรงหน้าได้ ก็ทำให้การเคลื่อนไหวจนไปถึงการเคลื่อนที่ การหยิบจับสิ่งของรอบตัว🧸เป็นไปอย่างคล่องแคล่วได้นั่นเองค่ะ


วิธีการกระตุ้นพัฒนาการด้านสายตาของเด็กแรกเกิด

  1. จ้องมองดวงตาและใบหน้าทารกในระยะใกล้บ่อยๆ

  2. แขวนของเล่นที่มีลักษณะ 3 มิติไว้ในระยะสายตา ถ้าเป็นของเล่นที่เคลื่อนไหวได้🪀ก็จะเป็นสิ่งที่ดีขึ้นไปอีกค่ะ

  3. เปลี่ยนตำแหน่งที่นอนของเจ้าตัวน้อยเป็นครั้งคราว ให้พวกเขาได้มีโอกาสมองภาพอื่นๆ เรียนรู้ทิวทัศน์อื่นๆรอบตัว

  4. ใช้สิ่งของหรือติดภาพที่มีสีสันสดใส เน้นไปที่แม่สีอย่างสีแดง🔴 สีเหลือง🟡 สีน้ำเงินชัดเจน🔵 ให้เด็กมีโอกาสมองเห็นบ่อยๆ

     อ่านมาถึงตรงนี้คุณผู้อ่านก็จะได้ทราบถึงพัฒนาการของเจ้าตัวน้อยที่พึ่งออกมาลืมตาดูโลกกว้างแล้วนะคะ จะเห็นว่าเด็กๆนั้นมีพัฒนาการทางด้านการมองเห็นเร็วกว่าที่คิด แน่นอนว่าพัฒนาการทางด้านการมองเห็นนั้นพ่วงมากับพัฒนาการทางด้านการเรียนรู้และการจดจำด้วย ช่วงเวลานี้จึงถือเป็นนาทีทองของคุณพ่อคุณแม่ที่อยากให้ลูกจดจำใบหน้าและสร้างความผูกพันกับเด็กได้อย่างรวดเร็ว🤗 ดังนั้นอย่ารอช้าที่จะดูแล ให้เวลา และมีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขาเยอะๆกันนะคะ