คุณผู้อ่านบางท่านคงเคยได้ยินกันมาไม่น้อยใช่ไหมคะ เมื่อคลอดเจ้าตัวน้อยออกมาใหม่ๆ👶 มักจะมีคนเตือนว่าระวังทารกของเราหัวแบนหากพานอนไม่ถูกท่าไม่ถูกวิธี แต่ท่านอนนั้นส่งผลกระทบต่อรูปร่างของศีรษะทารกมากน้อยแค่ไหน หากส่งผลได้จริงคุณผู้ปกครองควรจัดการอย่างไร และจะส่งผลได้จนถึงอายุกี่ขวบ การที่ลูกมีศีรษะไม่ทุยสวยงามถือเป็นอาการผิดปกติและสามารถก่ออันตรายต่อเด็กๆในอนาคตได้หรือไม่ บทความนี้มีคำตอบให้คุณผู้อ่านค่ะ💁♀️
ลักษณะหัวแบน หัวทุย เป็นอย่างไร
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักนิยามของคำว่าหัวแบนและหัวทุยกันก่อนนะคะ คำว่าลูกหัวแบน🧠คือการที่เด็กมีมีลักษณะบริเวณกะโหลกท้ายทอยแบนราบลงไปทั้งสองข้างซ้ายขวา หรือบางคนอาจมีลักษณะแบนเพียงข้างใดข้างหนึ่งก็นับว่าหัวแบนหรือเบี้ยวเช่นเดียวกัน ในขณะที่เด็กที่มีศีรษะทุยจะมีรูปร่างของกะโหลกบริเวณท้ายทอยโป่งออกมาหรือนูนออกมาเล็กน้อยค่ะ สาเหตุของการที่เด็กมีศีรษะลักษณะแบนจะเกิดจากอะไรได้บ้าง เราไปดูต่อพร้อมกันเลยค่ะ
👉เด็กหัวแบนหรือเบี้ยวตั้งแต่อยู่ในครรภ์
เกิดจากการที่ขนาดมดลูกของคุณแม่นั้นค่อนข้างเล็ก จึงอาจกดทับหรือบีบรัดบริเวณกะโหลกศีรษะของเด็กได้👶 ซึ่งโดยปกติแล้วทารกในครรภ์จะยังไม่มีกะโหลกศีรษะที่แข็งแรงเหมือนวัยผู้ใหญ่อย่างเรา กะโหลกจึงผิดรูปได้ค่อนข้างง่ายเมื่อถูกกดทับหรือบีบรัดค่ะ
เกิดจากการที่คุณแม่มีภาวะน้ำคร่ำน้อยกว่าปกติ💧 ทำให้พื้นที่ว่างระหว่างศีรษะของเด็กกับมดลูกของคุณแม่นั้นค่อนข้างน้อยตาม มดลูกของคุณแม่จึงเกิดการบีบรัดกะโหลกศีรษะของเด็กมากกว่าปกติ เสี่ยงจะทำให้ศีรษะของเด็กผิดรูปได้เช่นเดียวกันค่ะ
ในขณะที่ทำการคลอด ศีรษะของเด็กถูกบีบรัดจากมดลูกรวมถึงช่องคลอดของคุณแม่ค่อนข้างมาก หรือเครื่องมือที่แพทย์👨⚕️ใช้ทำคลอดนั้นอาจบีบรัดแรงเกินไป อาจส่งผลให้กะโหลกศีรษะที่ยังไม่แข็งแรงนั้นผิดรูปได้ค่ะ
👉เด็กหัวแบนหรือเบี้ยวหลังคลอด
เด็กมีปัญหาคอเอียง จึงทำให้เด็กติดท่านอนตะแคง😴หันไปฝั่งใดฝั่งหนึ่งเพียงฝั่งเดียวเป็นประจำ และเนื่องจากกะโหลกศีรษะของทารกยังไม่แข็งแรง ข้างที่โดนกดทับกับเตียงจึงแบน ทำให้อีกข้างมีแนวโน้มทที่จะโค้งนูนมากกว่า เมื่อมองดูจึงทำให้ไม่สมดุล หรือมีลักษณะศีรษะเบี้ยวนั่นเองค่ะ
เด็กไม่ได้มีปัญหาคอเอียง แต่คุณผู้ปกครองปล่อยให้เด็กๆนอนท่าใดท่าหนึ่งเป็นประจำ💤 ไม่ว่าจะเป็นเพียงการนอนตะแคงซ้ายหรือขวาข้างใดข้างหนึ่งเพียงอย่างเดียว หรือการนอนหงายหรือคว่ำอย่างใดอย่างหนึ่งแบบเดียวเป็นประจำ กะโหลกศีรษะบริเวณที่ถูกกดทับกับเตียงจึงแบน พื้นที่ที่ไม่ได้ได้โดนกดทับจึงโค้งนูน ทำให้ดูว่าศีรษะนั้นมีความโค้งนูนไม่สมดุลกันนั่นเองค่ะ
เด็กมีภาวะศีรษะเชื่อมกันเร็วผิดปกติ ปกติแล้วกะโหลกทุกส่วนทุกชิ้นของทารกจะปิดหรือเชื่อมติดกันสนิทเมื่อทารกมีอายุได้ประมาณ 18 เดือนหรือ 1 ปีครึ่ง ทำให้ก่อนหน้านั้นกะโหลกของเด็กยังสามารถที่จะมีการเปลี่ยนรูปได้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและภาวะทางสุขภาพ แต่เด็กที่กะโหลกปิดเร็วกว่านั้นจะทำให้กะโหลกไม่สามารถเปลี่ยนรูปได้ เบี้ยวแล้วเบี้ยวเลย ที่น่าเป็นห่วงไม่ใช่เพียงเรื่องความสวยงามของลักษณะกะโหลกศีรษะ แต่เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่สมอง🧠ของเด็กยังสามารถเจริญได้อีกมาก เซลล์สมองก็จะเพิ่มขึ้น ทำให้สมองมีขนาดใหญ่ขึ้น การที่กะโหลกปิดเร็ว ไม่สามารถขยายใหญ่ได้เพิ่ม จึงก่อให้เกิดความผิดปกติต่อสมองและพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กในอนาคตได้ค่ะ
จัดท่านอนให้ลูกหัวทุย
พยายามไม่ให้ลูกนอนแบบใดแบบหนึ่งนานๆ ไม่ว่าจะเป็นการนอนตะแคงซ้ายหรือขวาข้างเดียวนานๆ หรือนอนคว่ำนอนหงายอย่างเดียวเป็นเวลานานๆ (ไม่ควรให้ลูกนอนคว่ำในตอนนอนหลับจริงๆ เพราะเด็กอาจหายใจไม่ออก🤢และเสียชีวิตระหว่างนอนหลับได้)
หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าลูกมีศีรษะที่เบี้ยวเพียงข้างใดข้างหนึ่งตั้งแต่คลอด (โดยแพทย์ไม่ได้วินิจฉัยว่าเป็นความผิดปกติ) ให้จัดท่าให้ลูกพยายามนอนตะแคงไปในด้านที่ไม่แบน😴 ศีรษะจะได้มีลักษณะโค้งมนสมดุลกันทั้งสองข้างค่ะ
ช่วงเวลาให้ทารกดื่มนม🍼ควรสลับข้างกันซ้ายขวาเพื่อความสมดุลค่ะ
พยายามไม่ให้เด็กนอนในคาร์ซีทหรือรถเข็นเด็กเป็นระยะเวลานานๆค่ะ
จะเห็นแล้วนะคะว่าคุณแม่สามารถช่วยจัดท่าทางให้เจ้าตัวน้อยของเรามีกะโหลกศีรษะที่ทุยสวยงามได้ไม่ยากเลย สิ่งสำคัญที่สุดคือหากพบว่าทารกมีกะโหลกที่เบี้ยว ควรรีบปรึกษาแพทย์👨⚕️ว่าเบี้ยวแบบนี้เป็นเรื่องปกติหรือไม่ หากเป็นภาวะที่ผิดปกติแพทย์จะได้ช่วยแก้ไขได้ทัน ก่อนที่กะโหลกของทารกจะปิดสมบูรณ์ค่ะ