post-title

การ X-ray อันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่?

     หลายครั้งที่การรักษาด้วยวิธีต่างๆทางการแพทย์นั้นก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพร่างกายของผู้ป่วย วันนี้บทความของเราพาคุณผู้อ่านมาดูถึงหนึ่งวิธีที่เป็นองค์ประกอบของการรักษาและวินิจฉัยโรคทางการแพทย์ที่ถือว่าเป็นเครื่องมือพื้นฐานอย่างมากในปัจจุบัน นั่นก็คือการทำเอกซเรย์นั่นเอง🩻 คุณผู้อ่านบางท่านอาจมีความเชื่อหรือเคยได้ยินมาว่า การทำเอกซเรย์นั้นไม่ดีต่อสุขภาพร่างกายทั้งในคนทั่วไป และอาจมีความอันตรายเป็นพิเศษสำหรับคุณแม่ที่กำลังมีเจ้าตัวน้อยในครรภ์ ความเชื่อหรือคำกล่าวนี้จะเป็นความจริงหรือไม่ บทความนี้มีคำตอบให้คุณผู้อ่านค่ะ💁‍♀️


ทำความรู้จักกับการเอกซเรย์

อันที่จริงแล้วที่เราเรียกกันว่าการเอกเซเรย์นั้นก็เหมือนกับการถ่ายรูปด้วยกล้องที่เราใช้กันในปัจจุบัน การถ่ายรูปด้วยกล้องถ่ายรูป📸จะทำให้เราสามารถเก็บภาพภายนอกของวัตถุที่เราถ่ายได้ เนื่องจากแสงจากดวงอาทิตย์สะท้อนไปยังวัตถุที่เราต้องการถ่าย จากนั้นจึงสะท้อนเข้าเลนส์กล้องไปยังตัวรับแสงอีกที การทำเอกซเรย์ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการเก็บภาพเช่นเดียวกัน ต่างกันที่ในการถ่ายภาพปกติเราต้องอาศัยแสงเพื่อที่จะมองเห็นวัตถุ แต่การเอกเซรย์นั้นจะใช้รังสีเอ็กซ์ในการยิงไปที่วัตถุแทน รังสีเอ็กซ์ซึ่งสามารถทะลุผ่านวัตถุได้บางชนิดรวมถึงร่างกายของเรา🩻 จะช่วยให้ฉากรับภาพสามารถรับภาพภายในของวัตถุที่ทะลุผ่านได้ ซึ่งก็คืออวัยวะและส่วนประกอบภายในร่างกายของเรานั่นเองค่ะ

👉การทำเอกซเรย์อันตรายจริงหรือ

เนื่องจากการทำเอกซเรย์ต้องอาศัยการใช้รังสีเอ็กซ์ในการเก็บภาพ ซึ่งเจ้ารังสีเอ็กซ์นั้นสามารถเข้าไปเปลี่ยนโครงสร้างหรือทำลายสารพันธุกรรม🧬ในร่างกายของเราได้จริง ซึ่งจะทำให้เซลล์ที่บรรจุสารพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเกิดการกลายพันธุ์ขึ้น อ่านมาถึงตรงนี้คุณผู้อ่านคงู้สึกว่าเป็นผลข้างเคียงที่รุนแรงมากเลยใช่ไหมคะ แต่ร่างกายของเราจะไปถึงจุดนั้นได้ ต้องได้รับรังสีในปริมาณที่มากพอและถี่พอ ซึ่งก่อนจะทำการเอกซเรย์ทุกครั้ง ทั้งแพทย์และเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคต้องทำการประเมินความจำเป็นของรังสีที่ใช้ในการยิงเพื่อเก็บภาพในทุกๆครั้งอยู่แล้ว ซึ่งถือได้ว่าใช้ความเข้มข้นของรังสีที่ต่ำมากๆ จึงมีโอกาสน้อยมากที่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพร่างกายค่ะ


ตั้งครรภ์อยู่เอกซเรย์ได้หรือไม่

ตามที่กล่าวไปว่าในการใช้รังสีเอ็กซ์เพื่อการเก็บภาพนั้นจะมีการคำนวณความเข้มข้นของรังสีที่ใช้ก่อนยิงอยู่แล้ว ซึ่งกับร่างกายของคุณแม่เองไม่เกิดอันตรายแน่ๆ✅ แต่หากกำลังตั้งครรภ์ เด็กในครรภ์มีแนวโน้มที่จะอ่อนไหวต่อสิ่งเร้ามากกว่าผู้ใหญ่ หากต้องการเก็บภาพอวัยวะภายในบริเวณช่องท้องหรือบริเวณใดก็ตามที่รังสีมีโอกาสโดนร่างกายของเด็ก แพทย์อาจเลือกใช้วิธีเก็บภาพแบบอื่นแทน ยกตัวอย่างเช่นการทำอัลตร้าซาวนด์ แต่หากวิธีเก็บภาพด้วยวิธีอื่นๆนั้นไม่เหมาะสมที่จะใช้วินิจฉัย แพทย์ก็อาจใช้เทคนิคอื่นนอกเหนือจากการเก็บภาพเข้ามาช่วย อย่างไรก็ตาม หากเป็นการเอกซเรย์ที่อวัยวะหรือบริเวณที่จะไม่โดนเด็กในครรภ์👶 ก็สามารถทำได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องแจ้งแพทย์และเจ้าหน้าที่ก่อนทุกครั้งค่ะว่ากำลังตั้งครรภ์

✨ข้อควรระวังเมื่อต้องเอกซเรย์ระหว่างตั้งครรภ์

  1. แจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคว่ากำลังตั้งครรภ์🤰 เพราะมีผลต่อการจัดท่าเพื่อทำเอกซเรย์และการคำนวณความเข้มข้นของรังสีที่ใช้ยิงเพื่อเก็บภาพตามความเหมาะสมและความจำเป็น

  2. หากไม่มีความจำเป็น ควรหลีกเลี่ยงการทำเอกซเรย์🙅‍♀️หากคุณแม่อายุครรภ์เพียง 10-17 สัปดาห์

     อ่านมาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านจะเห็นแล้วนะคะว่าอันที่จริงแล้วการทำเอกซเรย์หรือการได้รับรังสีเอ็กซ์ในปริมาณต่ำๆนั้นแทบไม่ส่งผลอันตรายต่อร่างกายของผู้ป่วยเลย✅ หากเปรียบเทียบกับประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำเอกซเรย์ นั่นก็คือความแม่นยำในการวินิจฉัยและการรักษาของแพทย์นั้นก็ยังถือว่าเป็นเทคนิคหรือวิธีการที่คุ้มค่าที่จะทำ ดังนั้นต่อไปนี้ถ้าคุณแม่มีความจำเป็นต้องได้รับการเอกซเรย์ หากอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคประจำโรงพยาบาล🏥นั้นก็สามารถวางใจได้ค่ะ