post-title

รู้ทันภาวะครรภ์เสี่ยง (High-Risk Pregnancy)

     สำหรับคุณผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์แล้ว🤰 แน่นอนว่าสุขภาพและความแข็งแรงของร่างกายมีแนวโน้มที่จะลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนตั้งครรภ์ ร่างกายจำเป็นต้องได้รับการดูแลมากกว่าเดิมเป็นพิเศษ เพื่อประโยชน์ในเชิงสุขภาพของเจ้าตัวน้อยในครรภ์ รวมไปถึงร่างกายของคุณแม่เอง แต่ในคุณแม่ที่มีภาวะครรภ์เสี่ยงสูงนั้น นับว่าเป็นการตั้งครรภ์ในระดับที่น่ากังวลและต้องการการดูแลมากกว่าครรภ์ทั่วไปมาก วันนี้บทความของเราจะพาคุณผู้อ่านมารู้จักกับภาวะเสี่ยงดังกล่าวว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เราไปดูพร้อมๆกันเลยค่ะ💁‍♀️


ทำความรู้จักภาวะครรภ์เสี่ยงสูงเบื้องต้น

ภาวะครรภ์เสี่ยงสูงเป็นการตั้งครรภ์ที่มีโรคหรือภาวะทางสุขภาพอื่นๆเข้ามาร่วมด้วยในช่วงที่คุณผู้หญิงกำลังตั้งครรภ์ ช่วงที่กำลังคลอด หรือช่วงหลังคลอดก็นับว่ามีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบในทางลบต่อทั้งสุขภาพของเจ้าตัวน้อยในครรภ์🚼และคุณแม่เอง สำหรับสาเหตุของภาวะครรภ์เสี่ยงนั้นค่อนข้างกว้างและมีหลากหลายมาก บทความของเราจึงขออนุญาตจัดกลุ่มปัจจัยต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจของคุณผู้อ่านไว้ตามหัวข้อภายหลังจากนี้ค่ะ

ภาวะครรภ์เสี่ยงจากช่วงเวลาในการตั้งครรภ์ที่ไม่เหมาะสม

  1. เกิดจากคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุยังน้อย หรือต่ำกว่า 16 ปี ซึ่งถือว่าเป็นคุณแม่วัยใสนั่นเอง👧

  2. เกิดกับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก ประมาณช่วง 40 ปีขึ้นไป👩‍🦱 มักมีภาวะมีบุตรยากควบคู่มาก่อนหน้าการตั้งครรภ์อีกด้วยค่ะ


    ภาวะครรภ์เสี่ยงจากเงื่อนไขทางด้านสุขภาพแต่ละตัวบุคคล

  • เกิดกับคุณแม่ที่มีหมู่เลือด Rh ลบ และกำลังตั้งครรภ์

  • เกิดกับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ลูกแฝดสองขึ้นไป👯‍♂️

  • เกิดกับคุณแม่ที่ทารกในครรภ์อยู่ในท่าที่ไม่ปกติ ยกตัวอย่างเช่นท่าขวางหรือท่าก้นในช่วงที่อายุครรภ์ค่อนข้างมากแล้ว

  • เกิดกับคุณแม่ที่ใช้สารเสพติด🚬ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย

  • เกิดกับคุณแม่ที่มีโรคประจำตัว ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ🫀 เบาหวาน โรคไต ความดันโลหิตสูง

  • เกิดกับคุณแม่ที่เป็นโรคทางอายุรกรรม ไม่ว่าจะเป็นโลหิตจาง ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ธาลัสซีเมีย โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง🛡️หรือทำร้ายตนเอง โรคลมชัก

👉ภาวะครรภ์เสี่ยงเนื่องจากคุณแม่มีประวัติทางสุขภาพบางประการ

  1. เกิดกับคุณผู้หญิงที่มีภาวะมีบุตรยาก แท้งบุตรมากกว่า 2 ครั้งในขณะตั้งครรภ์ รวมไปถึงคลอดแล้วเด็กเสียชีวิตภายหลังการคลอด💀

  2. เกิดกับคุณผู้หญิงที่เคยคลอดบุตรน้ำหนักตอนคลอดผิดไปจากเกณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นคลอดเด็กที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 2.5 กิโลกรัมซึ่งถือว่าต่ำเกินไป หรือคลอดเด็กที่มีน้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัมซึ่งถือว่าน้ำหนักมากเกินไปนั่นเอง

  3. เกิดกับคุณผู้หญิงที่มีเวลาคลอดบุตรผิดไปจากเกณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นการคลอดก่อนกำหนดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ หรือคลอดหลังกำหนด ซึ่งก็คือมีอายุครรภ์เกิน 42 สัปดาห์🤰

  4. เกิดกับคุณผู้หญิงที่เคยมีปัญหาการตั้งครรภ์มาก่อน เช่น มีภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือทารกโตช้าในครรภ์ พัฒนาการทางด้านระบบประสาทและสมอง🧠ไม่พัฒนาตามช่วงเวลาที่ควรจะเป็น

  5. เกิดกับคุณผู้หญิงที่เคยมีประวัติการผ่าตัดบริเวณอวัยวะต่างๆที่เกี่ยวข้องกับระบบการสืบพันธุ์

     อ่านมาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านก็จะเห็นเป็นที่เรียบร้อยแล้วนะคะ ว่าภาวะครรภ์เสี่ยงสูงนั้นมีสาเหตุหรือปัจจัยกระตุ้นที่หลากหลายจริงๆ หากคุณผู้อ่านเป็นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือมีคนรอบตัวเป็นคุณผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ และพบว่ามีโรคประจำตัว หรือมีประวัติทางด้านสุขภาพเข้าเค้ากับที่กล่าวมาข้างต้น ควรดูแลรักษาสุขภาพร่างกายในระหว่างการตั้งครรภ์ให้ดีกว่าคนทั่วไป สิ่งสำคัญที่สุดคือการไปฝากครรภ์เพื่อให้ตนเองอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญค่ะ👩‍⚕️