post-title

พื้นฐานการดูแลทารกแรกเกิด คุณแม่มือใหม่ควรรู้!

     ขึ้นชื่อว่าทารกแรกเกิดแล้ว คงมีเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพให้น่ากังวลเต็มไปหมด เนื่องจากเป็นวัยที่มีความอ่อนไหวต่อสิ่งแวดล้อมมาก เสี่ยงจะเกิดอันตรายทางด้านสุขภาพขึ้นได้ง่าย วันนี้บทความของเราจึงพาคุณผู้อ่านมาดูถึงประเด็นต่างๆที่จำเป็นต้องทราบไว้ หากต้องดูแลเด็กแรกเกิด ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองหรือไม่ก็ตาม ก่อนอื่นเราไปเริ่มต้นกันด้วยข้อสังเกตเกี่ยวกับเด็กแรกเกิดกันเลยค่ะ💁‍♀️


ลักษณะภายนอกเบื้องต้นของทารกแรกเกิดเจ้าตัวน้อยควรมีน้ำหนักตัวอยู่ที่ประมาณ 3 กิโลกรัม 

ข้อนี้อาจสังเกตด้วยขนาดร่างกายของเด็กไม่ได้ ให้ใช้เครื่องชั่งน้ำหนักค่ะ แต่ส่วนที่สังเกตได้คือความยาวของร่างกายซึ่งนับตั้งแต่ปลายศีรษะจนถึงปลายเท้าจะมีความยาวประมารณ 50 เซนติเมตรหรือเกือบสองไม้บรรทัดยาวต่อกันนั่นเอง📏 ส่วนศีรษะจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าลำตัวเป็นปกติ โดยมีเส้นรอบวงประมารณ 35 เซนติเมตร มีผมบางๆปกคลุมเต็มบริเวณศีรษะ และตรงกลางศีรษะค่อนไปทางด้านหน้าจะมีลักษณะเป็นช่องสี่เหลี่ยมอ่อนนุ่มเรียกว่ากระหม่อม ซึ่งถือเป็นส่วนอ่อนไหว เนื่องจากเป็นส่วนที่กะโหลกยังไม่หุ้มเนื้อสมอง โดยกระหม่อมจะปิดก็ต่อเมื่อทารกมีอายุประมาณ 1 ปีครึ่งค่ะ

ผิวนั้นของทารกแรกเกิดนั้นจะบางกว่าคนวัยผู้ใหญ่อย่างเป็นปกติ 

มักจะสามารถสังเกตเห็นเส้นเลือดฝอยสีแดงหรือสีชมพูเข้มก็ไม่ยาก อาจสังเกตเห็นขนอ่อนขึ้นตามหลังหรือไหล่ของทารก หากหลังคลอดได้ประมาณ 3 วันผู้ปกครองสังเกตว่าผิวของทารกนั้นค่อนข้างเหลือง หรืออาจมีสีเหลืองเกิดขึ้นบริเวณตาขาว👁️ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการตัวเหลืองทันทีค่ะ และร่างกายบริเวณเต้านมนั้นจะค่อนข้างนูนทั้งในเด็กผู้ชายและผู้หญิงจนสามารถคลึงได้ อาจมีน้ำนมไหลออกมาซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ก็ไม่ควรบีบเล่นเพราะอาจทำให้เกิดอาการอักเสบ ในส่วนของอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงอาจมีเลือดไหลออกมาได้เล็กน้อยซึ่งไม่อันตรายค่ะ

เด็กควรเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อได้ทุกส่วน 

หากถูกจับให้อยู่ในท่าทางนอนคว่ำก็สามารถหันศีรษะของตนเองตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่งให้ตนเองยังสามารถหายใจได้อย่างสะดวก เมื่อได้ยินเสียงดังๆหรือเสียงเรียกกระตุ้นทารกควรสะดุ้ง เพื่อเป็นการแสดงว่าได้ยินเสียง👂และสามารถตอบสนองต่อเสียงนั้นๆได้

การหายใจของทารกแรกเกิดนั้นหลักๆจะใช้กล้ามเนื้อบริเวณท้อง 

ดังนั้นหากสังเกตด้วยตาเปล่าจะเห็นได้ว่าท้องมีการขยับมากกว่าบริเวณอก อัตราการหายใจของทารกปกติจะอยู่ที่ประมาณ 30-40 ครั้งต่อนาที ซึ่งถือว่าค่อนข้างถี่กว่าเด็กโตมากๆ แต่ก็ถือเป็นเรื่องปกติค่ะ ในส่วนของการขับถ่ายนั้นปกติแล้วทารกจะถ่ายอุจจาระหลังคลอดได้ประมาณ 24 ชั่วโมง หลายๆท่านอาจเรียกอุจจาระ💩ลักษณะนี้ว่าขี้เทาเพราะเป็นสีดำปนเทา ซึ่งจะไม่ค่อยมีกลิ่นเหม็นค่ะ แต่เมื่อทารกได้รับประทานน้ำนมของคุณแม่ สีของอุจจาระก็จะเปลี่ยนไปเป็นสีเขียว เขียวปนเหลือง และเหลืองในที่สุด โดยจะใช้เวลาประมาณ 4-5 วัน และจะถ่ายอุจจาระประมาณ 3-6 ครั้งหลังได้ดื่มน้ำนมคุณแม่ค่ะ


การดูแลทารกแรกเกิดการอุ้มเด็กแรกเกิดนั้นสามารถทำได้ 3 แบบ 

แบบแรกคือการอุ้มทารกให้ทารกนอน ท้ายทอยของเด็กจะพิงอยู่บริเวณข้อพับแขนของคุณแม่ และลำตัวจะนอนบนท่อนแขน ต่อมาจะเป็นการอุ้มเรอ จะเป็นการอุ้มทารกในแนวยืน🤱 ทารกจะพิงร่างกายส่วนหน้าพาดบ่าของคุณแม่ ท้องจะอยู่ที่ไหล่เพื่อช่วยไล่ลม หากคุณแม่อยู่ในท่านั่งอาจใช้วิธีการให้ทารกนั่งบนตักแล้วหันหน้าออกจากคุณแม่ จากนั้นคุณแม่จึงใช้มือลูบหน้าอกและลูบหลังของทารกก็ได้ค่ะ ส่วนท่าสุดท้ายคือการอุ้มปลอบ อิริยาบถจะคล้ายกับวิธีอุ้มเรอท่ายืน แต่เปลี่ยนจากการไล่ลมโดยใช้ไหล่ เป็นการที่คุณแม่คุยกับลูกแทนค่ะ

การฉีดวัคซีนที่จำเป็นในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค 

หลังคลอดนั้น ทารกทุกคนต้องได้รับวัคซีนป้องกันวัณโรค💉 ไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งจะมีใบนัดให้คุณผู้ปกครองพาทารกมารับเข็มต่อๆไปของวัคซีนตามระยะเวลาที่เหมาะสมค่ะ นอกจากนี้ยังมีวัคซีนอีสุกอีใสซึ่งถือเป็นวัคซีนทางเลือก จะฉีดหรือไม่ฉีดก็ได้ค่ะ แต่หากฉีดก็จะลดโอกาสที่เด็กจะติดเชื้ออีสุกอีใสและเป็นแผลตามร่างกายในอนาคตได้ค่ะ

การดูแลสุขภาพช่องปาก 

ถึงแม้ว่าทารกแรกเกิดนั้นจะยังไม่สามารถรับประทานอาหารอะไรได้เลยนอกจากน้ำนมของคุณแม่ แต่ก็ต้องได้รับการทำความสะอาดอยู่ดี เพราะคราบน้ำนมนั้นสามารถกระตุ้นให้เกิดการสะสมของแบคทีเรีย🦠ในช่องปากได้เช่นกัน สามารถทำได้โดยใช้นิ้วของเราพันผ้านุ่มๆ แล้วชุบน้ำสะอาดที่ผ่านการต้มเดือดแล้วปล่อยให้อุ่นมาเช็ดให้ทั่วช่องปากทารกอย่างสม่ำเสมอภายหลังการให้ทารกดื่มน้ำนมค่ะ

     อันที่จริงแล้วยังมีอีกหลายประเด็นที่ถือเป็นเรื่องน่าใส่ใจสำหรับการดูแลเจ้าตัวน้อยในวัยแรกเกิด🚼 สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการดูแลเด็กแรกเกิดคือการหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายทารก หากมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที ไม่ควรมองข้ามเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยค่ะ