post-title

ฟันน้ำนมลูกขึ้นแล้ว เริ่มแปรงฟันให้ลูกได้เลยไหม?

     คุณผู้อ่านหลายท่านเคยสงสัยหรือจดจำได้กันไหมคะว่า เราเริ่มแปรงฟันกันตอนไหน🪥 เชื่อว่าหลายๆท่านก็คงรู้สึกหรือจำได้เลือนรางว่าตนเองเริ่มถูกหัดให้แปรงฟันตั้งแต่เด็กๆเพื่อป้องกันฟันผุ แต่ก็ไม่สามรถบอกเป็นช่วงเวลาที่แน่นอนกันได้ใช่ไหมคะ วันนี้บทความของเราพามาดูกันค่ะ ว่าจริงๆแล้ว หากคุณผู้อ่านมีเจ้าตัวน้อยหรือวางแผนจะมีเจ้าตัวน้อยในอนาคต จะสามารถให้เขาแปรงฟันได้ตั้งแต่ตอนไหน หากฟันยังไม่ขึ้นจำเป็นต้องแปรงฟันหรือไม่ จำเป็นต้องกังวลเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพฟันหรืออาการฟันผุฟรือเปล่า💁‍♀️


ทำความเข้าใจกับลักษณะฟันของเด็ก

อย่างที่พวกเราทราบกันว่าฟันชุดแรกของเจ้าตัวน้อยนั้นก็คือฟันน้ำนมนั่นเอง 

ซึ่งเมื่อเด็กโตขึ้น เจ้าฟันน้ำนมเหล่านี้ก็จะค่อยๆหลุดออกทีละซี่ๆจนครบทั้งช่องปาก จากนั้นก็จะมีฟันชุดต่อไปซึ่งถือเป็นชุดสุดท้ายของทนุษย์ทุกคน (ถ้าไม่นับฟันปลอม) งอกขึ้นมาทดแทนนั่นเองค่ะ แม้ว่าสำหรับเด็กๆแล้ว หากเกิดอะไรขึ้นกับฟันน้ำนม🦷แล้วจะมีฟันแท้ชุดถัดไปงอกขึ้นมาแทน ทำให้คุณผู้ปกครองบางท่านอาจคิดว่าเดี๋ยวค่อยใส่ใจเรื่องสุขภาพฟันหรือพาเด็กๆไปตรวจฟันตอนที่มีฟันแท้งอกขึ้นมาแล้วก็ได้ เสี่ยงให้ฟันน้ำนมมีปัญหา อาจหลุดออกก่อนระยะเวลาอันเหมาะสม ซึ่งก็จะส่งผลให้ฟันแท้ของซี่นั้นมีปัญหาต่างๆตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาฟันซ้อนหรือฟันเกค่ะ


การดูแลช่องปากสำหรับเด็กที่ฟันยังไม่ขึ้น

แม้ว่าเด็กเล็กนั้นจะยังไม่มีฟันในช่องปาก แต่ระหว่างนั้นพวกเขาก็ยังต้องดื่มนน้ำนมของคุณแม่อยู่ดี ซึ่งในน้ำนมนั้นก็มีสารอาหาร ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนน้ำนมหรือน้ำตาลธรรมชาติในน้ำนม🍼 ซึ่งก็เป็นแหล่งอาหารอันโอชะของเจ้าแบคทีเรียในช่องปากเช่นเดียวกัน เจ้าแบคทีเรียเหล่านี้ แม้จะยังทำอะไรช่องปากของทารกไม่ได้ แต่ก็ส่งผลให้ช่องปากมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้ และเมื่อใดก็ตามที่ฟันซี่แรกของทารกขึ้นมา แบคทีเรีย🦠เหล่านี้ก็พร้อมจะทำให้มันผุได้ทันที 

ดังนั้นทารกที่ยังไม่มีฟันในช่องปาก ก็ควรได้รับการดูแลสุขภาพช่องปากเช่นกัน ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ค่ะ

✨ใช้ผ้านุ่มๆ หรือแปรงสีฟันสำหรับเด็ก (ควรเลือกประเภทที่ขนแปรงนุ่ม) จุ่มน้ำอุ่นๆเช็ดทำความสะอาด โดยการถูเบาๆไปที่เหงือกทุกครั้งหลังจากที่เด็กดื่มน้ำนมของคุณแม่เสร็จ🤱

✨เมื่อทำความสะอาดเหงือกเสร็จแล้ว ให้เริ่มทำความสะอาดบริเวณกระพุ้งแก้ม จากนั้นให้ทำความสะอาดบริเวณลิ้นของเล็กด้วย👅 เพราะเป็นบริเวณที่มีแบคทีเรียสะสมเช่นเดียวกัน

✨นอกจากประโยชน์ในแง่ของการรักษาความสะอาดของช่องปาก ณ ช่วงเวลานั้นๆแล้ว การที่คุณพ่อคุณแม่ทำความสะอาดช่องปากให้เด็กๆด้วยวิธีการดังกล่าว จะทำให้เจ้าตัวน้อยเกิดความเคยชิน ง่ายต่อการฝึกให้พวกเขาใช้แปรงสีฟันแปรงฟันเองได้โดยอนาคตอีกด้วยค่ะ🪥


การดูแลช่องปากสำหรับเด็กที่ฟันขึ้นแล้ว

โดยปกติแล้ว ฟันน้ำนมซี่แรกของเจ้าตัวน้อยจะขึ้นในช่วงอายุไม่เกิน 1 ขวบ (12 เดือน)

ดังนั้น สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำหลังจากฟันน้ำนมซี่แรกของเด็กขึ้นคือการพาเด็กไปพบทันตแพทย์ภายใน 6 เดือนหลังจากฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น หรือหากไม่ต้องการนับวันเวลา ก็ควรพาเด็กมาพบทันตแพทย์เป็นครั้งแรกในช่วงที่เด็กมีอายุประมาณ 12-18 เดือนหรือไม่เกิน 1 ขวบครึ่งนั่นเองค่ะ👶

ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของสารฟลูออไรด์

หลังจากฟันซี่แรกขึ้น คุณพ่อคุณแม่สามารถหัดให้เด็กแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของสารฟลูออไรด์ได้เลยค่ะ โดยใช้ปริมาณของยาสีฟันที่น้อยกว่าวัยผู้ใหญ่ และหัดให้ลูกบ้วนยาสีฟันหลังจากการแปรงฟันแล้วทิ้งค่ะ

การเคลือบหลุมร่องฟัน

สำหรับข้อนี้อาจไม่ใช่ข้อบังคับที่คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านจำเป็นต้องให้เด็กทำ แต่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยป้องกันหรือลดโอกาสในการเกิดฟันผุของเจ้าตัวน้อยขึ้นในอนาคตได้ นั่นก็คือการเคลือบหลุมร่องฟันนั่นเองค่ะ อันที่จริงแล้ววิธีนี้สามารถทำได้กับทั้งฟันชุดแรกของเด็กอย่างฟันน้ำนม และเมื่อฟันน้ำนมของเด็กหลุดไป ก็สามารถทำได้อีกครั้งหลังฟันชุดถัดไปซึ่งก็คือฟันแท้ขึ้นมาทดแทนได้ค่ะ นอกจากจะช่วยลดโอกาสในการเกิดฟันผุแล้ว ก็ยังทำให้เด็กสามารถทำความสะอาดช่องปากได้ง่ายขึ้น เพราะมีร่องฟันให้เศษอาหาร🥦เข้าไปอุดตันได้น้อยลงนั่นเองค่ะ

     อย่างไรก็ตาม สำหรับเจ้าตัวน้อยที่ยังดื่มน้ำนมของคุณแม่อยู่🍼 คุณผู้ปกครองควรหลีกเลี่ยงการให้ลูกดื่มน้ำนมอย่างไม่เป็นกิจวัตร โดยเฉพาะช่วงกลางดึก🌃 เพราะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเกิดฟันผุในเด็กได้ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็ควรทำความสะอาดช่องปากทุกครั้งหลังรับประทานหรือดื่มอะไรก็ตามที่ไม่ใช่น้ำเปล่าค่ะ