ทักษะการเห็นอกเห็นใจ🤗 ถือเป็นอีกหนึ่งทักษะที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม เพราะการที่ลูกรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่นนั้นจะส่งเสริมการเสริมสร้างทักษะที่ช่วยปกป้องเขาจากการกลายเป็นผู้ที่ Bully คนอื่น🤬 ลดความเสี่ยงในการมีบุคลิกภาพแบบ Antisocial หรือการต่อต้านสังคม และลดความเสี่ยงในการที่เขาจะเติบโตขึ้นมาเป็นฆาตรกรหรือบุคคลที่ชอบใช้ความรุนแรงได้อีกด้วย แล้วจะช่วยในด้านใดได้อีกบ้าง ทางเราได้หาคำตอบมาให้คุณแม่ทราบแล้วค่ะ💁♀️
การเห็นอกเห็นใจ (Empathy) คืออะไร ทำไมถึงเป็นสิ่งสำคัญต่อลูก?
การเห็นอกเห็นใจ (Empathy) คือ ความสามารถในการเข้าใจคนอื่นในมุมมองที่พวกเขาเป็น
ทักษะการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยทำให้คนแต่ละบุคคลเกิดความเข้าใจกันในมุมมองที่หลากหลาย ซึ่งทักษะนี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันคุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังให้ลูกเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์โดยนึกถึงผู้อื่นอยู่เสมอ (Digital Empathy) ซึ่งเป็นการสอนให้เด็กๆไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย พูดว่าร้ายคนอื่นให้เสียหายโดยการโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย📱
3 วิธีในการสอน ทักษะการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นให้กับลูก มีดังต่อไปนี้
สอนให้ลูกคิดถึงผู้อื่น
คุณแม่ควรรู้จักสอนให้ลูกรู้จักคิดถึงบุคคลรอบตัว เพราะการคิดถึงคนอื่นจะทำให้เด็กๆ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา”💞 และเขาจะระลึกถึงทุกครั้งว่า การกระทำของเขาจะส่งผลต่อความรู้สึกของบุคคลเหล่านั้นหรือไม่ และจะทำให้บุคคลเหล่านั้นรู้สึกดีรู้สึกแย่ หากลูกรู้จักตระหนักถึงความรู้สึกของบุคคลอื่น ก็จะช่วยทำให้สังคมของเราน่าอยู่มาก
หมั่นให้ความรักและความอบอุ่นอยู่เสมอ
คุณพ่อคุณแม่ควรมอบความรักให้แก่ลูกอยู่เสมอ👨👩👧👦 เพื่อเป็นการแสดงออกอย่างจริงใจให้ลูกได้เห็นและรับรู้ว่า “พวกเขามีตัวตน” เพราะเด็กนั้นมักเรียนรู้จากพฤติกรรมที่เขาเห็นและจดตามมาทำตาม เมื่อลูกได้รับความรักจากคุณพ่อคุณแม่มากพอ เขาจะเกิดความรู้สึกรักตัวเอง จากนั้นเมื่อเขารักตัวเองมากพอแล้ว เขาจะเผื่อแผ่ความรักไปถึงคนและสิ่งอื่นๆ ในสังคมต่อไป
เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูก
วัยเด็กเป็นวัยที่กำลังเฝ้ามองสิ่งต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้ ดังนั้นเราสามารถสอนวิธีมี Empathy ที่ถูกต้องในการสร้างปฎิสัมพันธ์ที่ดีด้วยการเป็นตัวอย่างในการให้คุณค่า เอาใจใส่ความรู้สึกของผู้อื่น รวมถึงการเห็นอกเห็นใจเมื่อมีคนเสียใจ😢 เสียขวัญ หรือกำลังสับสน รวมถึงให้ความเห็นอกเห็นใจพร้อมทั้งให้ความร่วมมือเมื่อพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ นอกจากนี้เมื่อเด็ก ๆ แสดงความรู้สึกที่ไม่ดี ผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่จะต้อง “รับรู้” ความรู้สึกของพวกเขา แสดงความห่วงใย และดูแลจนพวกเขาส่งสัญญาณว่าเขาโอเค และพร้อมจะไปทำสิ่งอื่นต่อ
หากลูกได้รับการปลูกฝังทักษะการเห็นอกเห็นใจแก่ผู้อื่นมาตั้งแต่เด็ก เมื่อเขาเติบโตขึ้นก็จะมีความเห็นอกเห็นใจให้กับเพื่อนร่วมชั้นเรียนรวมไปถึงผู้ร่วมงาน และบุคคลในสังคมเช่นเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลให้เด็ก ๆ มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว และก่อให้เกิดความเคารพ🙏 ความเกรงใจต่อบุคคลรอบข้าง ลูกจะสามารถมีความสุขในการอยู่ร่วมกับคนอื่นได้มากขึ้น เพราะเขารับรู้และเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นได้เช่นเดียวกัน