post-title

อาการนอนผวาในเด็กทารก

     เมื่อพูดถึงอาการนอนผวา คุณผู้อ่านหลายๆท่านก็คงเคยประสบปัญหานี้เช่นเดียวกันใช่ไหมคะ ในวัยผู้ใหญ่อย่างเราๆอาการนอนผวานั้นค่อนข้างเป็นที่เข้าใจว่าสามารถเกิดขึ้นได้ ส่วนหนึ่งก็จากความเครียดและความวิตกกังวลที่เราอาจเก็บมาคิด จนทำให้เกิดฝันร้ายและเกิดอาการตื่นผวาในที่สุด แต่กับเจ้าตัวน้อยที่ยังไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นมากนัก ไม่น่ามีความเครียดที่มากนัก แล้วเด็กๆยังมีอาการนอนผวา จะเกิดขึ้นได้จากอะไรได้บ้าง ถือว่าเป็นเรื่องปกติหรือไม่ แก้ไขอย่างไรดี ต้องพาไปพบแพทย์หรือไม่ วันนี้บทความของเรามีคำตอบให้คุณผู้อ่านค่ะ💁‍♀️


ลักษณะอาการนอนผวาที่ผู้ปกครองอาจพบได้

สำหรับเด็กที่มีอายุช่วง 3 เดือนแรก 

อาการผวานั้นจะไม่ชัดเจน เมื่อมีอะไรมารบกวนการนอนนิดหน่อยเด็กอาจผวาด้วยการขยับตัวเล็กน้อย

สำหรับเด็กที่มีอายุในช่วง 6 เดือนถึง 1 ปี 

อาการผวาของเด็กจะสังเกตได้ชัดมากยิ่งขึ้น เด็กจะมีการร้องละเมอ งอแงโวยวาย😭 อาจใช้มือตีสิ่งรอบข้างทั้งที่ตายังหลับสนิท ปลุกให้ตื่นได้ยาก

อาการเหล่านี้คงทำให้คุณผู้ปกครองกังวลใช่ไหมคะ แต่คำอธิบายการเกิดอาการผวาสำหรับเด็กก็คือ การที่ระบบประสาทและสมองของเด็กยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ เมื่อมีสิ่งเร้าภายนอกมารบกวน ไม่ว่าจะเป็นแสงหรือเสียง🔊 เด็กจึงเกิดอาการผวาได้ง่ายนั่นเองค่ะ

อาการนอนผวามีข้อเสียหรือไม่

    อาการนอนผวานั้นไม่ได้ส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางร่างกายของเด็กแต่อย่างใด เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้บ้างอย่างเป็นปกติ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเกิดกับเด็กๆทุกคนค่ะ

วิธีช่วยลดอาการนอนผวาในทารก

ก่อนที่จะส่งเด็กๆนอน ให้คุณผู้ปกครองอุ้มทารกแนบชิดติดกับร่างกายของตนเองให้ได้นานที่สุด🤱 จะทำให้ทารกเกิดความผ่อนคลายและไว้วางใจ เมื่อรู้สึกว่าเจ้าตัวน้อยเข้าสู่ช่วงผ่อนคลายแล้ว ให้ค่อยๆวางเขาบนที่นอนอย่างช้าๆ แล้วจึงค่อยๆปล่อยมือหลังจากที่หลังของเด็กสัมผัสกับฟูกที่นอนแล้ว เพื่อให้เด็กเกิดความรู้สึกมั่นคง ไม่เหมือนการหล่นจากที่สูง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการผวา😰ตามมาในช่วงที่นอนหลับได้

ใช้การห่อตัวเด็กเข้าช่วย อาจเลือกใช้เป็นผ้าขนหนูหรือผ้าห่มประจำตัวทารกห่อตัวก็ได้ค่ะ

หมั่นสังเกตว่าลูกมีอาการผวาในช่วงเวลาเดิมๆหรือไม่ หากจับสังเกตได้ให้คุณแม่เตรียมนอนกอดเจ้าตัวน้อยเบาๆ🤗ในช่วงเวลาที่มักเกิดอาการนอนผวา


วิธีป้องกันอาการเกิดอาการนอนผวาในเด็ก

จัดห้องนอนให้มีสิ่งเร้าที่รบกวนการนอนหลับน้อยที่สุด

 ไม่ว่าจะเป็นการจัดห้องให้เงียบ สร้างสิ่งแวดล้อมทั้งนอกห้องและในห้องให้เงียบในช่วงเวลาที่เด็กนอน หรือการจัดแสงห้องนอนในช่วงที่ปิดไฟให้มืดที่สุดเท่าที่จะทำได้🌌 อย่างที่ได้กล่าวไปในย่อหน้าก่อนหน้า ว่าเด็กทารกจะมีอาการนอนผวาได้ง่ายหากมีสิ่งเร้าภายนอกเข้ามากระตุ้นประสาทสัมผัสระหว่างนอน เพราะระบบประสาทและสมองของพวกเขายังไม่พัฒนาอย่างสมบูรณ์ดีค่ะ

การนอนคว่ำจะลดอาการนอนผวาของเด็กได้ 

โดยให้จัดให้เด็กนอนคว่ำแต่ทะแยงไปด้านใดด้านหนึ่ง ไม่คว่ำใบหน้าของเด็กไปที่ที่นอนโดยตรง อย่างไรก็ตาม ควรทำในตอนที่คุณแม่หรือผู้ปกครองดูแลอย่างใกล้ชิดเท่านั้น เพราะหากจัดท่านอนได้ไม่ดีหรือเด็กขยับตัวอุดทางเดินหายใจของตนเอง จะทำให้เด็กขาดอากาศหายใจ🤢และเสียชีวิตได้

ใช้ผ้าห่มหรือผ้าบางๆเบาๆมาวางบริเวณหน้าอกของเด็ก จะช่วยลดอาการนอนผวาได้

ใช้เปลผ้าแทนเตียงเด็ก🛏️ ที่เวลาเด็กนอน ผ้าของเปลจะขยับเข้ามาแนบชิดตัวเด็ก ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยขึ้น มีโอกาสช่วยลดอาการนอนผวาของเด็กได้

ก่อนเข้านอน คุณผู้ปกครองไม่ควรเล่นอะไรโลดโผนกับเด็กๆอย่างการจับเด็กโยนลงบนเตียง เพราะจะทำให้เขารู้สึกว่าหล่นจากที่สูงและเก็บเอาไปนอนผวาได้

     จะเห็นแล้วนะคะว่าอาการนอนผวาในเด็กทารกนั้นเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ได้อันตราย แต่หากเด็กอายุเลยช่วง 1 ขวบปีแล้ว และยังมีอาการนอนผวาที่ค่อนข้างบ่อยอยู่ หรือคุณผู้ปกครองพยายามจัดสิ่งแวดล้อมการนอนให้เหมาะสมและเอื้อต่อการนอนหลับแล้ว แต่ลูกก็ยังนอนผวาเรื่อยๆอยู่ อาจปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมได้👩‍⚕️ เพราะจะเริ่มส่งผลเสียในการนอนหลับต่อทั้งตัวเด็กและคุณพ่อคุณแม่ จากการนอนหลับไม่เพียงพอค่ะ