post-title

ภาวะบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ในเด็ก

     ความผิดปกติทางสุขภาพทั้งในด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเด็กนั้น ถือเป็นสิ่งที่อาจวินิจฉัยได้ค่อนข้างยากสำหรับแพทย์ เพราะเด็กเป็นวัยที่ไม่สามารถบอกกล่าวรายละเอียดความผิดปกตินั้นด้วยตนเองได้ แต่สิ่งหนึ่งที่มักส่งสัญญาณออกมาชัดมากๆ นั่นก็คือพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกนั่นเอง วันนี้บทความของเราพาคุณผู้อ่านมาดูถึงหนึ่งภาวะความผิดปกติทางจิตของเด็ก ที่ส่งสัญญาณออกมาค่อนข้างชัดผ่านพฤติกรรมของเด็ก ภาวะนั้นก็คือ ภาวะบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์นั่นเองค่ะ จะมีรายละเอียดอย่างไรบ้างนั้น เราไปทำความรู้จักและความเข้าใจถึงภาวะดังกล่าวให้มากขึ้นกันเลยค่ะ💁‍♀️


ภาวะบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์

มีชื่อภาษาอังกฤษที่ค่อนข้างสื่ออาการได้ตรงตัว นั่นก็คือ Emotional and Behavioral Disorders เป็นภาวะที่ผู้ป่วยแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อย่างการต่อต้านตัวเองจนไปถึงผู้อื่น มีความรู้สึกหรือความคิดที่ผิดไปจากปกติ ยกตัวอย่างเช่นมีความเชื่อมั่นและเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ อยากทำร้ายทั้งตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นกับคนได้ทุกเพศทุกวัย ไม่จำกัดว่าจะเป็นได้แค่ในเด็กค่ะ👧

ลักษณะของเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านอารมณ์

มีปัญหาด้านความประพฤติ เด็กมีแนวโน้มที่จะใช้กำลังในการแก้ปัญหาใดๆที่เกิดขึ้น นำไปสู่การทำร้ายร่างกายผู้อื่น มีปัญหาทางด้านการควบคุมอารมณ์โกรธ หมกมุ่นในกิจกรรมและอารมณ์ทางเพศ มีความเสี่ยงในการก่ออาชญากรรม ไม่ว่าจะเป็นการลักทรัพย์ ทำลายข้าวของ มีการใช้สารเสพติด🚬 สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบในทางที่ไม่ดีต่อการเรียน มีปัญหาการเรียน หลบหนีออกจากบ้านของตนเอง

มีปัญหาเกี่ยวกับการให้ความสนใจและสมาธิ เด็กจะสามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือกิจกรรมใดๆในระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น ไม่เกิน 20 วินาที ถูกสิ่งเร้าอื่นๆรอบตัวดึงดูดความสนใจได้ตลอด โดยทั่วไปเด็กจะมีบุคลิกงัวเงีย เฉยชา😐 ไม่แสดงความสนใจไปที่อะไรเป็นพิเศษ เลื่อนลอยและแสดงท่าทีไม่ฟังสิ่งที่ผู้อื่นพูด

มีปัญหาอยู่นิ่งไม่ได้และสมาธิสั้น โดยทั่วไปเด็กจะแสดงอาการกระวนกระวาย ลุกลี้ลุกลนอยู่ตลอดเวลา อยู่นิ่งๆไม่ได้ ต้องการพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวอยู่ตลอดเวลา เรียกร้องความสนใจจากคนรอบข้าง

มีปัญหาด้านการถอนตัวหรือการล้มเลิก ไม่ต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมและผู้ตนรอบข้าง ขาดความมั่นใจในตนเอง รู้สึกว่าตนเองไม่ดีพอ ไม่มีคุณค่ามากพอเมื่อเทียบกับผู้อื่น โดยทั่วไปเด็กจะมีบุคลิกเฉยชาต่อสิ่งรอบข้าง ดูเหน็ดเหนื่อยอยู่ตลอดเวลา ไม่ค่อนแสดงความรู้สึกออกมาก ดูเหมือนเป็นคนขี้กลัวและขี้อายมากๆ🫣

ความผิดปกติในแง่ของการทำงานของร่างกาย ปัญหานี้จะถูกแบ่งย่อยเป็นความผิดปกติเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินรูปแบบต่างๆ เช่น พฤติกรรมอาเจียนโดยสมัครใจ โรคกินไม่หยุด โรคปฏิเสธการกิน อยากรับประทานสิ่งที่รับประทานไม่ได้ ไปจนถึงการเป็นโรคอ้วน และความผิดปกติทางด้านการขับถ่ายทั้งอุจจาระ💩และปัสสาวะ

ภาวะบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์รุนแรง สังเกตได้ว่าเด็กในกลุ่มนี้จะขาดเหตุผลในการคิดวิเคราะห์ มีอาการหลงผิด อาการประสาทหลอน🤯 และอาจมีพฤติกรรมการทำร้ายตนเองร่วมด้วย


สาเหตุของภาวะบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์

ปัจจัยทางชีวภาพ 

มีหลักฐานว่าความผิดปกติเหล่านี้เป็นสิ่งที่อาจได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เนื่องจากโรคเหล่านี้เชื่อมโยงกับระดับสารเคมีกลุ่มฮอร์โมนในร่างกาย ดังนั้น สำหรับครอบครัวที่มีประวัติความผิดปกติของระดับฮอร์โมน การส่งต่อรูปแบบความผิดปกติของฮอร์โมนก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้แน่นอน ว่าภาวะดังกล่าวมาจากการส่งต่อทางกรรมพันธุ์เท่านั้น🧬 ยังถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนและสรุปไม่ได้อยู่ค่ะ

ปัจจัยทางสังคม

พูดง่ายๆก็คือปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมนั่นเอง ภาวะดังกล่าวอาจถูกเร้าหรือถูกเหนี่ยวนำจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีรอบตัวเด็ก ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่มีปัญหา พ่อแม่แยกทาง ทะเลาะเบาะแว้ง ใช้ความรุนแรงให้ลูกเห็น พ่อแม่ละเลยไม่ใส่ใจ จนไปถึงระดับสังคมที่ใหญ่ขึ้นอย่างระดับโรงเรียน เกิดการกลั่นแกล้งขึ้นในโรงเรียนแล้วเด็กไม่สามารถบอกใครได้ หรือเด็กที่ผ่านเรื่องราวร้ายๆมาแล้วไม่ได้รับการบำบัดพูดคุยอย่างเหมาะสมจากจิตแพทย์เด็ก👨‍⚕️ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เด็กมีภาวะบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ได้ทั้งสิ้นค่ะ

     อ่านมาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านก็จะได้รู้จักกับภาวะบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์มากขึ้นกันไปแล้วนะคะ จะสังเกตว่าสามารถแบ่งกลุ่มอาการได้หลากหลายกลุ่มเลย ที่สำคัญคือแต่ละกลุ่มอาการ ก็มีอาการที่บ่งบอกไม่เหมือนกันเสียทีเดียว และผู้ป่วยคนหนึ่งไม่จำเป็นต้องมีพฤติกรรมของกลุ่มอาการเดียวก็ได้ ดังนั้น ถ้าคุณผู้ปกครองสังเกตได้ว่าเจ้าตัวน้อย👶🏻ของตนเองมีอาการแปลกๆที่เข้าข่ายกับภาวะดังกล่าว ก็ไม่ควรเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย มองข้าม และคิดว่าเด็กจะสามารถเยียวยาตนเองให้หายเองในอนาคต ควรพาลูกเข้ารับคำแนะนำที่ถูกต้องจากจิตแพทย์เด็กทันทีค่ะ