post-title

วิธีจัดการอารมณ์ของผู้ปกครอง ไม่ให้ส่งผลเสียต่อลูก

     ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ความเป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง ความเป็นอยู่ การเมือง ไปจนถึงความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน ความรับผิดชอบทางบทบาทในสังคมที่หนักอึ้ง ล้วนเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดในคนวัยผู้ใหญ่อย่างเราได้ไม่ยาก ย่ิงไปกว่านั้นหากคุณผู้อ่านได้สวมหัวโขนของการเป็นคุณพ่อคุณแม่แล้ว ความเครียดและความกดดันในการเลี้ยงเด็กสักคน👦ให้เติบโตมามีคุณภาพคงจะประเมินระดับไม่ได้เลยทีเดียว ถึงความเครียดและอารมณ์ลบๆนั้นจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดไม่ได้ แต่การจัดการอารมณ์เหล่านี้อย่างเหมาะสมโดยไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อคนรอบข้างรวมถึงลูกเราเองสามารถทำได้แน่นอนค่ะ จะทำได้อย่างไรบ้าง เราไปดูพร้อมๆกันเลยค่ะ💁‍♀️


รู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง ยอมรับและควบคุมอารมณ์

อารมณ์นั้นถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติในร่างกายของมนุษย์โดยเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีกลุ่มฮอร์โมนในร่างกาย 

✨เมื่อมนุษย์เราเจอสิ่งเร้าภายนอกที่แตกต่างกัน ก็จะทำให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายของเราเปลี่ยน สร้างอารมณ์ที่แตกต่างกันตามประเภทของสิ่งเร้าและประสบการณ์ชีวิตของแต่ละบุคคล

เมื่ออ่านข้อด้านบน จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเป็นสิ่งที่ยับยั้งไม่ให้เกิดไม่ได้ พูดง่ายๆคือเราแทบไม่สามารถควบคุม “การเกิด” อารมณ์ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้แน่นอนคือการเรียนรู้ที่จะควบคุม “ระดับ” หรือไดนามิกของอารมณ์เหล่านั้น ไม่จำเป็นต้องปฏิเสธตนเองว่าเรามีอารมณ์ที่ไม่ดี แต่ควรรู้เท่าทันและยอมรับว่านเองกำลังมีอารมณ์เหล่านั้น พูดง่ายๆคือการมีสติ💭 รู้ว่าตนเองกำลังรู้สึกอย่างไรอยู่นั่นเอง การรับรู้และยอมรับในปัญหาเป็นขั้นตอนแรกในการแก้ปัญหาค่ะ

หากเจ้าตัวน้อยของคุณผู้ปกครองทำพฤติกรรมที่ทำให้คุณผู้ปกครองไม่พอใจ สิ่งแรกที่ควรทำจึงควรเป็นการตั้งสติ รับรู้ว่าตนเองกำลังมีอารมณ์โกรธ😡 และสื่อสารกับลูกไปตรงๆว่ากำลังรู้สึกอย่างไรอยู่ด้วยน้ำเสียงนิ่งสงบ ไม่เอะอะโวยวาย และบอกเหตุผลที่ตนเองกำลังรู้สึกแบบนั้น จะช่วยให้เด็กเงียบสงบและรับฟังมากกว่าการดุด่าเสียงดังๆค่ะ

พาตัวเองออกจากสิ่งเร้าเหล่านั้น

สิ่งเร้าเหล่านี้นับรวมปัจจัยที่อย่างที่ทำให้เราอารมณ์ไม่ดี รวมถึงเจ้าตัวน้อยของเราด้วยค่ะ

อย่างที่กล่าวไปในหัวข้อก่อนหน้า ว่าเมื่อเกิดอารมณ์ที่ไม่ดีจากปัจจัยใดก็ตาม สิ่งแรกที่เราต้องทำคือการตั้งสติค่ะ เมื่อเราตั้งสติได้แล้วจะทำให้เราพอรับรู้ระดับความหนักหน่วงของอารมณ์เราได้ หากรับรู้ตนเองว่ากำลังมีอารมณ์ที่ไม่ดีมากๆ ไม่พร้อมพูดคุย สอน หรือมีปฏิสัมพันธ์กับใครทั้งสิ้น การพาตนเองออกมาจากสถานการณ์เหล่านั้นเพื่อมาสงบสติอารมณ์ ให้อยู่ในระดับที่เบาลงแล้วจึงกลับไปแก้ปัญหา ไม่ใช่สิ่งที่ผิดเลยค่ะ

สิ่งสำคัญก่อนที่จะพาตนเองออกมาจากสถานการณ์เหล่านั้น คือการสื่อสารค่ะ หากเด็กๆต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับเรา ในขณะที่เราไม่พร้อม อารมณ์ไม่ดีมากๆ จะมากขนาดไหนก็ต้องทำการสื่อสารกับเด็กก่อน ให้เขาได้รับรู้ด้วยเหตุผลว่าตอนนี้เราไม่พร้อมคุย ไม่พร้อมเล่น ขอไปอยู่กับตัวเองเป็นระยะเวลาเท่านี้ จะกลับมาพูดคุยแก้ปัญหาด้วย ไม่ได้ทอดทิ้งเขาไปไหน ไม่ต้องกังวล

หากละทิ้งสถานการณ์ตรงหน้าออกมาโดยไม่สื่อสารอะไร เมื่อทำบ่อยๆอาจสร้างปมในใจให้กับเด็ก อาจทำให้เด็กเป็นคนที่ไม่รู้สึกปลอดภัยในความสัมพันธ์🫂 (insecure) เมื่อเติบโตขึ้นได้ค่ะ


ทำกิจกรรมบำบัดความเครียด

    ในช่วงที่คุณผู้ปกครองพาตนเองออกมาจากปัจจัยที่ทำให้เกิดอารมณ์ที่ไม่ดีชั่วคราวนั้น สามารถใช้กิจกรรมเหล่านี้เพื่อผ่อนคลายตนเองได้ค่ะ

ทำสมาธิ 

สำหรับการทำสมาธิในที่นี้ไม่จำเป็นต้องนั่งขัดสมาธิ หลับตา ภาวนาเต็มประบวนการก็ได้ค่ะ แต่เป็นการนั่งเฉยๆด้วยความสงบ กำหนดลมหายใจให้ถี่ลง ช้าลง การบังคับให้ตนเองหายใจช้าลง😮‍💨 มีส่วนทำให้หัวใจเราเต้นช้าลง สูบฉีดเลือดช้าลง ความดันโลหิตต่ำลง เป็นการเหนี่ยวนำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วมากยิ่งขึ้นค่ะ

การออกกำลังกาย 

ถือเป็นกิจกรรมที่ทำให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายของเราเปลี่ยนไป เหมือนเป็นการรีเซ็ตฮอร์โมนเหล่านั้น ที่สำคัญการออกกำลังกายให้เสียเหงื่อจะทำให้ฮอร์โมนแห่งความสุขหรือที่ชื่อว่าเอ็นโดร์ฟินหลั่งได้อีกด้วยค่ะ🥰

ทำงานอดิเรกผ่านคลาย 

ในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นงานอดิเรกจริงจัง แต่สามารถเป็นงานบ้านหรือกิจกรรมทั่วไป ที่ทำแล้วคุณผู้ปกครองรู้สึกเพลิดเพลิน สงบ ได้อยู่กับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำสวน รดน้ำต้นไม้ ดูหนัง🎞️ ฟังเพลง เล่นกับสัตว์เลี้ยง อ่านหนังสือ ล้วนเป็นสิ่งที่ทำได้ทั้งสิ้นค่ะ

ทบทวนและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

เมื่อเราสามารถรับรู้ความรู้สึกของตนเอง ว่าอยู่ในระดับที่พร้อมแก้ปัญหาหรือไม่ ถ้าไม่ก็ไปจัดการทำให้อารมร์ของตนเองอยู่ในภาวะปกติก่อน เมื่อพร้อมแล้วเราจึงจะสามารถทบทวนและมองปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลได้ การมองปัญหาด้วยเหตุผลอย่างเป็นกลางจะนำมาซึ่งวิธีแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผลได้เช่นเดียวกันค่ะ

หากปัญหานั้นเกิดจากเจ้าเจ้าตัวน้อยของเราเอง สิ่งสำคัญที่สุดคือการไม่มองข้ามปัญหา เห็นว่าเป็นเรื่องเล็กจึงขี้เกียจกลับไปพูดถึง ปล่อยปละละเลยไป ทำให้ปัญหาเหล่านี้ไม่ถูกแก้ เมื่อลูกของเราทำอีกรอบหน้าเราก็จะอารมณ์เสียอีก เพราะฉะนั้น การกลับไปพูดคุยเพื่อแก้ปัหากับลูกจึงเป็นสิ่งที่ควรทำมากที่สุดค่ะ

     จะเห็นแล้วนะคะว่าทางทฤษฎีนั้น การรู้เท่าทันในอารมณ์ของตนเองและจัดการกับมันนั้นมีหลักการที่ไม่ยากเลย แต่อาจจะยากหน่อยในขั้นตอนการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งอาศัยการฝึกฝนบ่อยๆ สิ่งสำคัญคือต้องมีความอดทนที่สูงค่ะ ปัญหาหลายๆอย่างจากเด็กอาจไม่สามารถแก้ได้ด้วยการบอกกล่าวเพียงครั้งสองครั้ง แต่ต้องการการหล่อหลอมและปลูกฝังเรื่อยๆ ถึงจะดูเป็นสิ่งที่ยาก แต่เรามั่นใจว่าเพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพของลูกๆ คุณพ่อคุณแม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้แน่นอนค่ะ